top of page
ความเป็นมา

ในพื้นที่ภาคอีสานของไทย พระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ก่อตัวเป็นวัฒนธรรมไท-ลาว ที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นครอบคลุมพื้นที่อีสาน สะท้อนออกมาตามองค์ประกอบสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ พระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ  พระธรรม  และพระสงฆ์  กล่าวคือ ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานเป็นสิงที่แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์และสะท้อนถึงพระรัตนตรัย  อาทิ พระไม้อีสาน  และพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในยุคต่างๆ  รวมทั้งการนำเรื่องราววรรณกรรมในศาสนาในพุทธประวัติและนิทานชาดกมาเป็นตำนานและวรรณกรรมแบบท้องถิ่น  เพื่ออธิบายสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม เช่น ตำนานอุรังธาตุ (อุรังคนิทาน) วรรณคดีเรื่องสินไซ พะลักพะลาม เป็นต้น  ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องมือทางศิลปะและวัฒนธรรมอันนำไปสู่การเรียนรู้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ โดยสำนักวัฒนธรรม จึงดำเนินการโครงการจัดทำฐานข้อมูลพระไตรรัตน์ในอีสาน ซึ่งเป็นการรวบรวมฐานข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมด้านพระพุทธศาสนาในอีสานในรูปแบบที่สื่อถึงพระรัตนตรัย พร้อมสร้างคุณค่าและความสำคัญในการรวบรวมพระพุทธรูป ๕๐ องค์  โดยจัดพิมพ์ขึ้นในงานพระกฐินพระราชทาน ที่วัดพระธาตุพนมวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ และในปี ๒๕๖๐ ได้เสนอวรรณคดีอีสานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ๕๐ เรื่อง และในปีนี้ นำเสนอพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ๕๐ รูป ซึ่งถือว่าจะเป็นการรวบรวมนำเอาพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีในภาคอีสาน ซึ่งเป็นสื่อและเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

bottom of page