top of page

"สู่พระไตรรัตน์"

ธรรมรัตนะ

พระครูบุญชยากร  เจ้าคณะตำบลสาวะถีเขต ๑ ขอนแก่น

เจ้าอาวาสวัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง  จ.ขอนแก่น

พระไตรรัตน์หรือพระรัตนตรัยในความหมายและความสำคัญ

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทุกชั้นวรรณะ  โดยมุ่งเน้นถึงกลุ่มคนที่มีความวุ่นวายหรือมีความทุกข์  เพื่อดับตัณหาความอยากอันเป็นต้นเหตุความทุกข์  พระพุทธศาสนามีวิธีการแห่งหลักธรรมคำสอนที่เป็นจุดแห่งความคิดมากมาย  โดยอาศัยความศรัทธาเป็นพื้นฐานและมีปัญญาเป็นผลที่เกิดตามมา พระพุทธศาสนามีความสำคัญมากมายหลายประเด็นมีหลักคำสอนสำหรับพัฒนาบุคคลให้บรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดแห่งชีวิตบนพื้นฐานของเหตุผลและความถูกต้อง  ท่านได้กำหนดข้อปฏิบัติในการฝึกฝนอบรมตน ด้วยการให้ละความชั่ว ประพฤติแต่ความดี และทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส  ซึ่งในขั้นตอนของการพัฒนาตนนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยมีศรัทธา คือมีความเชื่อที่ถูกต้องในหลักเหตุและผลโดยอาศัยปัญญาเข้าไปกำกับทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ  แต่การที่คนเราจะมีปัญญาได้นั้น ตนเองก็ต้องรู้จักคิด รู้จักอบรมปัญญาให้เกิดขึ้น ด้วยการฟังจากบุคคลอื่นบ้าง จากการอ่านตำราบ้าง จากการคิดค้นด้วยตนเองบ้าง จากการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมทั่วไปบ้าง จากประสบการณ์ต่างๆ บ้าง   เมื่อคนเรามีปัญญาความรอบรู้แล้ว จะสามารถใช้เป็นประทีปส่องทางไปสู่ความสำเร็จทั้งในด้านหน้าที่การงาน และการดำเนินชีวิตและยังสามารถที่จะพัฒนาจิตใจตนเองให้เข้าถึงความมีอิสรภาพอย่างแท้จริงอีกด้วย กล่าวคือ ทำให้จิตหลุดพ้นจากการครอบงำของกิเลสและความทุกข์ทั้งปวงได้สำหรับผู้ยอมรับนับถือเอาพระพุทธศาสนามาสู่ชีวิตหรือพุทธศาสนิกชน มีสิ่งอันควรเคารพสูงสุดคือพระรัตนตรัยหรือพระไตรรัตน์ พระรัตนตรัย หรือพระไตรรัตน์ หมายถึง แก้วสามประการ อันประเสริฐสุดของพุทธศาสนิกชน ที่เรียกว่า รัตนะ (แก้ว) เพราะว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ มีค่าสูง และหาได้ยาก เทียบด้วยดวงแก้วมณี พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้าพระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเรียกเต็มว่าพุทธรัตนะ, ธรรมรัตนะ, สังฆรัตนะ ซึ่งได้แก่

๑. พระพุทธ คือ ผู้ตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง แล้วสอนผู้อื่นให้ประพฤติชอบตามด้วย

๒. พระธรรม คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

๓. พระสงฆ์ คือ สาวกหรือนักบวชที่ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติตาม             

         

การถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ได้แก่การเปล่งวาจาขอถึงพระพุทธ, พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่งพิงที่ระลึกว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ    แปลว่า  ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึกธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก  สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ   แปลว่า    ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก ดังนั้น การเข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแท้จริงหมายถึงการนำรัตนะทั้งสามมาเป็นแบบอย่างหรือแนวทางในการดำเนินชีวิต จนเห็นผลคือทำให้ชีวิตมีที่พึ่งได้อย่างแท้จริง พึ่งแล้วพ้นทุกข์เกิดความสุขแก่ชีวิต  แต่การที่จะนำรัตนตรัยมาใช้ในชีวิตนั้นจำเป็นต้องมีความเข้าใจให้ถ่องแท้เป็นเบื้องต้น โดยเฉพาะธรรมรัตนะ อันเป็นคำสอนที่จะเชื่อมโยงชีวิตเข้าสู่เป้าหมายของการปฏิบัติ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจและรู้จักใช้อย่างเหมาะสม

วรรณกรรมอีสานคือสะพานธรรมรัตนะ วรรณกรรมอีสาน ได้ถูกนำมาเป็นสะพานธรรมในวิถีชีวิตและสังคมของหมู่ชนอีสานตั้งแต่อดีต ด้วยเป็นนิทานหรือเรื่องราวที่เล่าขานกันอยู่แล้วเป็นทุนเดิมหรือเป็นชาดกที่ยกมาเล่าเป็นแบบพื้นบ้านก็ตาม เมื่อพุทธศาสนามีอิทธิพลด้านความคิดความเชื่อและการดำเนินชีวิตวิถีสังคมผู้คนมากขึ้น ความต้องการหรือความจำเป็นที่จะทำให้เป็นคนดีและสังคมที่ดีงาม ตามหลักธรรมคำสอน ก็ย่อมจะมีมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นวรรณกรรมอีสานกับธรรมรัตนะ จึงเป็นผลิตผลของการปรับประยุกต์ใช้สื่อสอนให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เราจึงจะเห็นว่าวรรณกรรมอีสานมีลักษณะโครงเรื่องที่แยกได้ชัดเจนอยู่๒ลักษณะ คือ

๑. วรรณกรรมที่มีจุดกำเนิดเค้าโครงเรื่องมาจากชาดกในพระพุทธศาสนาโดยตรง เช่น พระเวสสันดรชาดก  พระจันทกุมาร  พระมโหสถ เหล่านี้เป็นต้น แล้วถูกนักแต่งวรรณกรรมอีสานนำมาประยุกต์เรียบเรียงร้อยเรื่องให้เป็นลักษณะวรรณกรรมภาษาทำนองแบบอีสาน แล้วบางส่วนก็ยังนำวิถีชีวิตอีสานสอดแทรกเข้า ทำให้เกิดความน่าสนใจและอรรถรสของคนในท้องถิ่นยิ่งขึ้น                                               

๒. วรรณกรรมที่นำมาจากเรื่องเล่าหรือนิทานอีสานแต่นำธรรมะหรือคำสอนในพระพุทธศาสนาเข้าไปผสมกลมกลืน เพื่อให้เกิดคุณค่าในเชิงศรัทธาเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ทำให้เกิดการยอมรับและสามารถนำไปใช้ในวัดให้พระสงฆ์เทศนาสั่งสอนชาวบ้านได้อย่างไม่เคอะเขิน วรรณกรรมประเภทนี้จะต่างจากลักษณะแรกคือ อย่างแรกเป็นการนำวิถีความคิดความเชื่อประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม เข้าไปสอดแทรกเค้าโครงหลักชาดกในพระพุทธศาสนา แต่ประเภทที่สอง มีลักษณะตรงข้ามคือการนำเอาคำสอนในพระพุทธศาสนาไปสอดแทรกในเค้าโครงเรื่องเล่านิทานหรือวรรณกรรมตามความนิยมเดิม  เช่น เรื่องนางแตงอ่อน  ขูลูนางอั้ว  ท้าวก่ำกาดำ  นางสิบสอง  นางผมหอม  สังข์ศิลป์ชัย  เป็นต้น                   

 

โดยสรุปทั้งสองประเภทล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการใช้สื่อสอนธรรมะเข้าสู่ชาวบ้าน ซึ่งมีหลากหลายระดับ แต่วรรณกรรมเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ผู้คนได้ให้ความสนใจใฝ่รู้ได้มากที่สุด เพราะสอดคล้องกับวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น ดังนั้นถ้าจะเปรียบวรรณกรรมอีสานเหล่านี้เหมือนขบวนเรือสำเภา บรรทุกสิ่งของมีค่าคือธรรมรัตนะอันประเสริฐ เพื่อให้ชาวอีสานตั้งแต่อดีตได้ใช้เป็นเครื่องประดับจิตกล่อมเกลาใจหล่อหลอมสู่วิถีสังคมอันดีงาม เป็นสังคมของคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจ ร่มเย็นเป็นสุขภายใต้สภาพพื้นที่และดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ก็คงไม่ผิดนัก

bottom of page