top of page

หลวงพ่อโต

หลวงพ่อโต วัดมหาพุทธาราม อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะล้านช้าง มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓.๕ เมตร
สูง ๖.๘ เมตร

ประวัติการสร้าง

หลวงพ่อโต วัดมหาพุทธาราม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างจากหินพอกปูนแล้วลงรักปิดทอง เป็นศิลปะแบบล้านช้างนับว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดศรีสะเกษ ในปีพุทธศักราช ๒๓๒๘ เป็นปีที่เจ้าเมืองศรีสะเกษคนที่ ๒ พระยาวิเศษภักดี (ชม) ได้ย้ายเมืองศรีสะเกษจากที่ตั้งเดิมบ้านโนนสามขาสระกำแพงมาตั้งที่บริเวณที่เป็นศาลหลักเมืองในปัจจุบัน ในขณะที่สร้างเมืองนั้น มีคนไปพบหลวงพ่อโต ภายในใจกลางป่าแดง จึงได้อุปถัมภ์บำรุง โดยให้สร้างวัดขึ้นบริเวณที่พบหลวงพ่อโต ตั้งชื่อว่า “วัด
พระโต หรือวัดป่าแดง” ได้จัดหาพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิมาปกครอง ก่อสร้างเสนาสนะที่จำเป็นต่าง ๆ และเจ้าเมืองศรีสะเกษคนต่อๆ มาไม่ว่าเจ้าพระยาวิเศษภักดี (โท) หรือเจ้าพระยาวิเศษภักดี (บุญจันทร์) เป็นต้น ก็ได้อุปถัมภ์เอาใจใส่บำรุงวัดพระโตเสมือนเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองศรีสะเกษตลอดมา ตราบเท่าที่ศรีสะเกษได้กลายเป็นจังหวัด ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ คณะสงฆ์ศรีสะเกษซึ่งมีพระชินวงศาจารย์ (มหาอิ่ม คณะธรรมยุติ) ซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัด ศรีสะเกษขณะนั้น ดำริจะเปลี่ยนชื่อ วัดพระโตหรือวัดป่าแดง เป็นวัดมหาพุทธวิสุทธาราม แต่คณะกรรมการสงฆ์จังหวัด ได้พิจารณาเห็นควรเพียงชื่อว่า วัดมหาพุทธารามจึงได้ชื่อ “วัดมหาพุทธาราม” มาแต่บัดนั้น

 

หลวงพ่อโต ตามหลักฐานเชิงตำนานสืบความว่าเป็นพระพุทธรูปสององค์ทับซ้อนกัน คือองค์จริงเป็นพระพุทธรูปสำริดหน้าตักกว้าง ๑.๕ เมตร สูง ๒.๕ เมตร แต่เนื่องด้วยเกรงว่าจะถูกขโมย อาจารย์ศรีธรรมา ช่างจากเมืองล้านช้าง (นครศรีสัตตนาคนหุต) จึงได้สร้างพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างครอบองค์เดิมไว้ หลวงพ่อโตมีการค้นพบในสมัยสร้างเมืองใหม่ที่ดงไฮสามขา หลวงพ่อโตมีสภาพเป็นตุ๊กตาหิน ขนาดเท่าแขน เล่ากันว่าตุ๊กตาหินองค์นี้มีอภินิหาร คือเมื่อมองดูจะเป็นรูปเล็กๆเท่าแขน แต่เมื่อเข้าไปกอดกลับโอบไม่รอบองค์ พระอาจารย์ศรีธรรมมาจึงจัดทำพิธีสมโภช และได้ขนานนามว่า “พระโต” แต่ตำนานที่ค่อนข้างสอดคล้องกับประวัติการสร้างเมืองศรีสะเกษ และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เล่ากันว่าหลวงพ่อโตองค์จริงนั้นถูกหุ้มอยู่ข้างใน เป็นพระพุทธรูปปางมาวิชัย สร้างจากหินคำเกลี้ยง หรือที่เรียกว่าหินเขียว หรือหินแดง แล้วแต่ท้องที่ เดิมมีหน้าตักกว้าง ๒.๕ เมตร แต่ด้วยเกรงกลัวมิจฉาชีพจะมาลักขโมยองค์พระ จึงได้สร้างเสริมครอบไว้จนมีขนาดหน้าตักว้าง ๓.๕ เมตร ความสูงตั้งแต่พระเกศลงมา ๖.๘๕ เมตร ต่อมาเมื่อ พุทธศักราช ๒๕๐๙ ได้มีการสร้างวิหารใหญ่ครอบองค์พระไว้ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

คติความเชื่อและประเพณีที่เกี่ยวข้อง

หลวงพ่อโต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวศรีสะเกษที่ผู้คนให้ความเคารพนับถือมาก เป็นที่พึ่งทางใจของประชาชนผู้มีความทุก เมื่อมาสักการะแล้วก็นำมาซึ่งความสุขสบายใจ มีกำลังต่อสู้กับปัญหาต่อไป เมื่อถึงเทศกาลวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะอัญเชิญหลวงพ่อโตมาสรงนํ้า เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชาวเมืองเป็นประจำทุกปี

สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น | cac.kku.ac.th

  • Facebook B&W
  • Google+ B&W

@2023 by Samuel Glade | Landscape Architect | Proudly created with Wix.com

bottom of page