top of page

พระเจ้าใหญ่ลือชัย

หรือพระฤทธิ์ลือชัย

พระเจ้าใหญ่ลือชัย หรือพระฤทธิ์ลือชัย วัดอำนาจ อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะล้านช้าง

ประวัติการสร้าง

พระเจ้าใหญ่ลือชัย หรือพระฤทธิ์ลือชัย เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดอำนาจ องค์พระก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทองทั้งองค์ปางมารวิชัย มีพุทธศิลป์แบบล้านช้าง เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ศักดิ์สิทธิ์มาก นามของพระพุทธรูปองค์นี้ มากจาการที่เจ้าเมืององค์ก่อนได้มีการสักการะขอพรพระเจ้าใหญ่ลือชัยก่อนออกไปรบศึกฮ้อ จึงทำให้ได้ชัยชนะกลับมา จึงได้ขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่าพระเจ้าใหญ่ลือชัยหรือพระฤทธิ์ลือชัย


ประวัติการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่มีการจัดทำหนังสือประวัติอำเภอลืออำนาจครั้งฉลองเมืองมีการบันทึกไว้ว่า พระเจ้าใหญ่ลือชัยสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๙๘- ๒๔๐๔ โดยหลวงพ่อพระครูบัณฑิต และหมื่นชาโนชิตเป็นผู้ริเริ่มการก่อสร้าง เมื่อได้สร้างวัดเสร็จแล้ว จึงปรึกษาหารือกันสร้างพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ในพระพุโบสถ เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้ จึงกำหนดเขตสร้างโบสถ์และสร้างพระประธาน ท่านหลวงพ่อญาท่านพระครูบัณฑิต พระอมรอำนาจ (เจ้าเมืองลืออำนาจในขณะนั้น) พระสังฆาธิการ พระภิกษุสามเณร ประกอบด้วยประชาชนทั้งหลายได้พร้อมเพรียงกันดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ในการก่อสร้างไว้ หลังจากนั้นได้เกิดนิมิตกับหลวงพ่อพระครูบัณฑิตว่า จะทำพิธี หล่อ หรือ เหลา หรือเอา โรจน์ ท่านพระครูจึงถามถึงคำแปล ในนิมิตจึงตอบว่า หล่อ แปลว่า ลือชัย เหลา แปลว่า เทพนิมิต โรจน์ แปลว่า สว่างแจ่มใส ลือชาโด่งดังไปทั่วสารทิศ ชาวบ้านจึงเชื่อว่าการก่อสร้างพระเจ้าใหญ่ลือชัย มีความเกี่ยวข้องกับพระเหลาเทพนิมิต อำเภอพนา และพระโรจน์ อำเภอม่วงสามสิบ
จังหวัดอุบลราชธานี

คติความเชื่อและประเพณีที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจากบริเวณที่ตั้งวัดอำนาจ เป็นชุมชนโบราณ เป็นที่จั้งศาลเจ้าปู่และเป็นที่ตั้งเมืองอำนาจเจริญมาก่อน จึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์และปาฏิหาริย์มากมาย เช่น “ผีจ้างหมอลำ” เป็นต้น และคนโบราณเล่าลือกันว่า ใครที่ได้มากราบไหว้ขอพรจากพระเจ้าใหญ่ลือชัย หรือพระฤทธิ์ลือชัยแล้วจะได้รับความสำเร็จ เจริญรุ่งเรือง ได้รับชัยชนะจากศัตรูหมู่มารทั้งปวง มีอำนาจบารมีเป็นที่ยำเกรง ชีวิตผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคนานาประการได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อได้สมดังตั้งใจแล้ว ก็จะมีการแก้บนโดยการ
จ้างหมอลำมาแสดงถวาย ยิ่งเฉพาะช่วงเดือนเมษายนของทุกปี จะมีจำนวนหมอลำมาแสดงมากเป็นพิเศษ

สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น | cac.kku.ac.th

  • Facebook B&W
  • Google+ B&W

@2023 by Samuel Glade | Landscape Architect | Proudly created with Wix.com

bottom of page