top of page
ความเป็นมา

ในพื้นที่ภาคอีสานของไทย พระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ก่อตัวเป็นวัฒนธรรมไท-ลาว ที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นครอบคลุมพื้นที่อีสาน สะท้อนออกมาตามองค์ประกอบสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ พระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ  พระธรรม  และพระสงฆ์  กล่าวคือ ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานเป็นสิงที่แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์และสะท้อนถึงพระรัตนตรัย  อาทิ พระไม้อีสาน  และพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในยุคต่างๆ  รวมทั้งการนำเรื่องราววรรณกรรมในศาสนาในพุทธประวัติและนิทานชาดกมาเป็นตำนานและวรรณกรรมแบบท้องถิ่น  เพื่ออธิบายสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม เช่น ตำนานอุรังธาตุ (อุรังคนิทาน) วรรณคดีเรื่องสินไซ พะลักพะลาม เป็นต้น  ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องมือทางศิลปะและวัฒนธรรมอันนำไปสู่การเรียนรู้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ โดยสำนักวัฒนธรรม จึงดำเนินการโครงการจัดทำฐานข้อมูลพระไตรรัตน์ในอีสาน ซึ่งเป็นการรวบรวมฐานข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมด้านพระพุทธศาสนาในอีสานในรูปแบบที่สื่อถึงพระรัตนตรัย พร้อมสร้างคุณค่าและความสำคัญในการรวบรวมพระพุทธรูป ๕๐ องค์  โดยจัดพิมพ์ขึ้นในงานพระกฐินพระราชทาน ที่วัดพระธาตุพนมวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ และในครั้งนี้จะได้เสนอวรรณคดีอีสานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ๕๐ เรื่อง ซึ่งถือว่าจะเป็นการรวบรวมนำเอาวรรณกรรมในทางพุทธศาสนาที่เป็นสื่อและเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ในส่วนของวรรณกรรมได้มีกระบวนการเริ่มจากการปริวัติจากตัวอักษรธรรมและไทน้อยหรือลาว ที่ได้บันทึกในใบลาน โดยได้รับความอนุเคราะห์โดยพระครูบุญชยากร ในการตรวจสอบและเสนอแนะ ดังนั้นหนังสือใบลานจึงได้ถูกปริวรรต โดยปราชญ์ เช่น พระราชรัตโนบล พระอริยานุวัตร หลังจากได้ถอดบทมาในรูปแบบที่เป็นร้อยแก้วกองบรรณาธิการได้ สร้างวรรณกรรมทั้งหมดเป็นสำนวนอีสานที่มีแบบฉบับของตน เพื่อคงอรรถรสในการอ่านแบบสำนวนอีสาน รวมทั้งให้มีการอนุรักษ์ภาษาและคำสอนให้คงอยู่ต่อไป 

ขอแสดงความขอบคุณอย่างสูงสุดต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจน ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้พิจารณาและให้ความอนุเคราะห์ต่อการเสนอแนะและให้ข้อคิดเห็นต่อวรรณกรรมทั้งหมด

 

ซึ่งวรรณกรรมทั้งหมดในเล่ม มีการแยกวรรณกรรมอีสานที่มีการแบ่งโดย ๑) วรรณกรรมที่มีเค้าโครงมาจากชาดกในพระพุทธศาสนา และมีการแต่งโดยมีการเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาทำนองอีสาน และมีการแทรกนำเอาวิถีชีวิตสอดแทรกเข้าเพื่อให้เกิดอรรถรสของคนท้องถิ่น เช่น พระเวสสันดรชาดก จันทกุมาร พระมโหสถ ๒) วรรณกรรมที่นำเค้าเรื่องมาจากเรื่องเล่า นิทานอีสาน แต่มีการนำธรรมะหรือคำสอนของพระพุทธศาสนาผสมผสาน เพื่อให้เกิดคุณค่าในเชิงศรัทธา มีการนำไปเทศนาสั่งสอนชาวบ้าน มีการนำคำสอนในศาสนาไปแทรกในเค้าโครงเรื่องเล่าหรือนิทานในวรรณกรรมเดิม เช่น นางแตงอ่อน ขูลูนางอั้ว สินไซ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ คำศัพท์บางคำในหนังสือเล่มนี้จะพบการเขียนหรือสะกดคำที่ผิดและแปลกๆ ไป อาทิ โดน พ้อ.เบิ่งสาก่อน  แปลว่า ดูก่อน เฮา แปลว่า เรา  เคียดแฮง  แปลว่า โกรธมาก..ฯลฯ  ขอให้เข้าใจว่าเพื่อเป็นการเคารพต่อรูปแบบการสะกดคำภาษาของอีสานที่เน้นความเรียบง่าย และเกิดอรรถรสในรูปแบบอีสาน ซึ่งได้อ้างอิงจากพจนานุกรมอีสานกลาง  ฉบับ มข.-สวอ.ปี ๒๕๓๒ ในการแปล โดยหวังอย่างยิ่งว่างานชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ยิ่งในการเข้าถึงพุทธศาสนาคำสอนเพื่อจรรโลงความเป็นศิลปวัฒนธรรมอีสาน

ดังนั้นผู้จัดทำจึงจะได้นำพระไตรรัตน์อีสาน ในส่วนของวรรณกรรมพุทธศาสนาสำนวนอีสานเผยแพร่ในรูปแบบหนังสือและรูปแบบดิจิทัลออนไลน์ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลดังกล่าวให้สามารถนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรูปแบบดิจิตอลซึ่งมีความสำคัญต่อการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีสานในวงกว้างสู่ระดับนานาชาติ และสอดคล้องกับรูปแบบการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศในปัจจุบัน 

 

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารเล่มนี้จะยังประโยชน์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นกับผู้ที่สนใจศึกษา รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง  และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ทั้งนี้ จึงขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มีส่วนร่วมทำเอกสารเล่มนี้ให้สำเร็จสมบูรณ์เป็นรูปเล่มและการต่อยอดนำเสนอในรูปแบบดิจิทัลออนไลน์ อนึ่ง หากมีข้อบกพร่องผิดพลาดประการใดเกิดขึ้นในส่วนใดส่วนหนึ่งของเอกสาร อาจมีสาเหตุมาจากความไม่เข้าใจและอ่อนด้อยของบรรณาธิการมากกว่าอื่นใด ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้

bottom of page