top of page

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

(พระญาณสิทธาจารย์)

วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ประวัติ

    ท่านมีนามเดิมว่า สิม วงศ์เข็มมา เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๕๒ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีระกา เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. ที่บ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร บิดาท่านชื่อ นายสาน  วงศ์เข็มมา มารดาชื่อ นางสิงห์คำ วงศ์เข็มมา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๑๐ คน ท่านเป็นคนที่ ๕ สกุล “วงศ์เข็มมา” เป็นสกุลเก่าแก่สกุลหนึ่งของบ้านบัวผู้เป็นต้นสกุลได้แก่ ขุนแก้วและอิทธิปัญญา ผู้เป็นน้องชาย ตัวท่านขุนแก้วก็คือปู่ของหลวงปู่สิมนั่นเอง เท้าความในคืนที่หลวงปู่เกิดนั้นประมาณเวลา ๑ ทุ่ม โยมมารดาของท่านเคลิ้มหลับไป ก็ได้ฝันเห็นพระสงฆ์รูปหนึ่งมีรัศมีกายสุกสว่างเปล่งปลั่งแลดูเย็นตาเย็นใจอย่างบกไม่ถูก ลอยลงมาจากท้องฟ้าลงสู่กระต๊อบกลางทุ่งนาของนาง ต่อมาเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม นางสิงห์คำก็ให้กำเนิดเด็กน้อยผิวขาวสะอาดและจากนิมิตที่นางเล่าให้นายสานฟัง นายสานผู้เป็นบิดาจึงได้ตั้งชื่อลูกตนเองว่า “สิม” ซึ่งภาษาอีสานหมายถึงโบสถ์อันอาจบ่งบอกถึงความใกล้ชิดพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาเด็กชายสิมผู้นี้ก็ได้ครองผ้ากาสาวพักตร์ บำเพ็ญสมณธรรม ใช้ชีวิตที่สะอาดหมดจดตลอดชั่วอายุขัยของท่าน เมื่อเริ่มเข้ารุ่นหนุ่มอายุ ๑๕-๑๖ ปี ท่านมีความสนใจในดนตรีอยู่ไม่น้อย หลวงปู่แว่น ธนปาโล เล่าว่าตัวท่านเองเป็นหมอลำส่วนหลวงปู่สิมเป็นหมอแคน สิ่งบันดาลใจให้หลวงปู่อยากออกบวชคือความสะดุ้งกลัวต่อความตาย ท่านเล่าว่า “ตั้งแต่เด็กแล้วเมื่อได้เห็น หรือได้ข่าวคนตายมันทำให้สะดุ้งใจทุกครั้ง กลัวว่าเราจะตายเสียก่อนได้ออกบวช” มรณานุสติได้เกิดขึ้นในใจของท่านอยู่ตลอดเวลา เฝ้าย้ำเตือนให้ท่านไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในวัยไม่ประมาทในความตาย เป็นเพราะหลวงปู่กำหนด “มรณํ เม ภวิสฺสติ” ของท่านมาแต่ไหนแต่ไรแล้วนั่นเอง ตั้งแต่ยังไม่ได้ออกบวชจวบจนสิ้นอายุขัยของท่าน หลวงปู่ก็ยังใช้อุบายธรรมข้อเดียวกันนี้อบรมลูกศิษย์ลูกหาอยู่เป็นประจำ เรียกว่าหลวงปู่เทศน์ครั้งใดมักจะมี “มรณํ เม ภวิสฺสติ” เป็นสัญญาณเตือนภัยจากพญัจจุราชให้ลูกศิษย์ลูกหาตื่นตัวอยู่เสมอทุกครั้ง


    เมื่อท่านอายุ ๑๗ ปีได้ขอบิดามารดาบรรพชาเป็นสามเณร  ณ วัดศรีรัตนาราม ซึ่งเป็นวัดมหานิกาย ณ บ้านบัวนั่นเอง ตรงกับวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๖๙ ตรงกับวันอาทิตย์แรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง โดยมีพระอาจารย์สีทองเป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาคณะกองทัพธรรมของหลวงปู่มั่น  ภูริทตฺโต ได้เดินธุดงค์มาจากจังหวัดหนองคาย เพื่อมาเผยแพร่ธรรมปฏิบัติแก่ประชาชนโดยเดินทางมาถึงวัดศรีสงคราม ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม สามเณรสิมจึงได้มีโอกาสเดินทางไปฟังธรรม ทั้งจากพระอาจารย์ใหญ่คือหลวงปู่มั่น  ภูริทตฺโต  ท่านพระอาจารย์สิงห์  ขนฺตยาคโม และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล สามเณรสิมได้เฝ้าสังเกตข้อวัตรปฏิบัติของท่านพระอาจารย์มั่น  ท่านพระอาจารย์สิงห์  และพระอาจารย์มหาปิ่น และได้บังเกิดความเลื่อมใสอย่างมากจึงได้ตัดสินใจถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นและได้ขอญัตติใหม่มาเป็นธรรมยุติกนิกาย แต่โดยขณะนั้นยังไม่มีโบสถ์ของวัดฝ่ายธรรมยุติในละแวกนั้น การประกอบพิธีกรรมจึงต้องจัดทำที่โบสถ์น้ำ ซึ่งทำจากเรือ ๒ ลำทำเป็นโป๊ะลอยคู่กันเอาไม้ปูตรึงเป็นพื้นแต่ไม่มีหลังคาสมมติเอาเป็นโบสถ์ โดยท่านพระอาจารย์มั่นฯ เป็นประธานและเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม  พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ที่วัดป่าบ้านสามผง   อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม จากนั้นสามเณรสิมได้ติดตามพระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่วัดบ้านข่า ตำบลบ้านข่า อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม


    เมื่อสามเณรสิมอายุครบบวช ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดศรีจันทราวาส ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ ๑๖ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ตรงกับวันอังคารขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง โดยมีเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์  (จันทร์  เขมิโย) เมื่อครั้งยังเป็นพระครูพิศาลอรัญญเขต เจ้าคณะธรรมยุติจังหวัดขอนแก่นเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่สิม ได้ธุดงค์ไปในหลายจังหวัด เช่น วัดป่าสระคงคา อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักสงฆ์หมู่บ้านแม่ดอย (ต่อมาได้พัฒนาเป็นวัดชื่อว่า วัดป่าอาจารย์มั่น) อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นหลวงปู่ได้เดินธุดงค์ไปทางอำเภอสันกำแพง เข้าพักที่วัดโรงธรรมซึ่งขณะนั้นยังเป็นสำนักชั่วคราว ที่วัดโรงธรรมสามัคคีนี้เคยเป็นสถานที่ที่ครูอาจารย์หลายท่านเคยใช้จำพรรษา อาทิ หลวงปู่มั่น  ภูริทตฺโต, หลวงปู่ชอบ  ฐานสโม,  หลวงปู่แหวน  สุจิณฺโณ,  พระอาจารย์กู่  ธมฺมทินฺโน และหลวงปู่ตื้อ  อจลธมฺโม เป็นต้น


    หลวงปู่ได้รับสมณศักดิ์ “พระครูสันติวรญาณ” ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๒ และได้รับพัดยศโดยเลื่อนจากสมณศักดิ์ที่ “พระครูสันติวรญาณ” เป็น “พระญาณสิทธาจารย์” ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ และในคืนวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๕ พระเณรพร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกาได้พร้อมใจกันเจริญพระพุทธมนต์ฉลองสมณศักดิ์ถวายหลวงปู่ถ้ำผาปล่องหลังจากเจริญพระพุทธมนต์หลวงปู่ได้พาพระเณรและญาติโยมนั่งภาวนาต่อจนถึงเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. ท่านจึงกลับเข้ากุฏิที่พักด้านหลังภายในผาถ้ำปล่อง และได้มรณภาพในเวลาประมาณตีสาม สิริรวมอายุของหลวงปู่ ๘๒ ปี ๙ เดือน ๑๙ วัน อายุพรรษา ๖๓ พรรษา

โอวาทธรรม  

    ๑. คำว่าจิต ได้แก่ ดวงจิต ดวงใจผู้รู้อยู่ ผู้เห็นอยู่ ผู้ได้ยินได้ฟังอยู่ เราฟังเสียง ได้ยินเสียง ใครเป็นผู้รู้อยู่ในตัวในใจ นั่นแหละมันอยู่ตรงนี้ ให้รวมให้สงบเข้ามาอยู่ตรงนี้ ตรงจิตใจผู้รู้อยู่ (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์)


    ๒. ตาเห็นรูปก็จิตดวงนี้เป็นผู้เห็น ดีใจก็จิตดวงนี้หลงไป เสียใจก็จิตดวงนี้หลงไป เสียงผ่านเข้ามาทางโสตทางหูก็จิตดวงเก่านี่แหละ กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็จิตดวงนี้เป็นผู้หลง เมื่อจิตใจดวงนี้เป็นผู้หลงผู้เมาไม่เข้าเรื่อง เราก็มาแก้ไขภาวนาทำใจให้สงบไม่ให้หันเหไปกับอารมณ์ใด ๆ เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดดับอยู่ในตัว ในใจ ในบุคคลนี้ว่ามีเกิดขึ้นตั้งอยู่ชั่วระยะหนึ่งแล้วก็แตกดับไปเป็นธรรมดาอย่างนี้ (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์)


    ๓. การปฏิบัติบูชาภาวนานี้ เป็นการปฏิบัติภายใน เป็นการเจริญภายใน พุทโธภายในให้ใจอยู่ภายในไม่ให้จิตใจไปอยู่ภายนอก (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์)

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร(พระญาณสิทธาจารย์).j
bottom of page