top of page

ประวัติ

หลวงปู่พระมหาบุญมี สิริธโร เดิมชื่อ บุญมี สมภาค เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ตรงกับวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปี ๑๑ คือปีจอ เป็นบุตรโทนของนางหนุก สมภาค และนายทำมา สมภาค ที่บ้านขี้เหล็ก ตำบลรังแร้ง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อครั้งเป็นเด็กหลวงปู่มีนิสัยรักความสงบและมีความใฝ่ใจในพระพุทธศาสนาอย่างมาก จนมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งในขณะที่ท่านเลี้ยงควายอยู่กลางทุ่งนาร่วมกับเด็ก ๆ ในหมู่บ้านเดียวกัน ท่านได้พบภาพพระพุทธรูปในกระดาษแผ่นหนึ่งเข้า ก็เกิดความสนใจมากเป็นพิเศษจึงได้เก็บกระดาษแผ่นนั้นซ่อนเอาไว้ พอมีเวลาว่างท่านก็จะเอามานั่งดูจนเกิดปิติ จึงเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นพระพุทธรูป โดยมีเด็กเลี้ยงควายพากันนั่งดูและก็ปั้นบ่อย ๆ มีความสวยงามด้วย เมื่อมีมากขึ้นหลวงปู่จึงได้แจกและแบ่งปันให้เพื่อน ๆ เอาไป ตอนนั้นหลวงปู่บอกว่ามีอายุประมาณ ๘ – ๙ ปีเห็นจะได้  พออายุได้ประมาณ ๑๐ – ๑๒ ปี ท่านเริ่มเรียนหนังสือกับหลวงน้า ซึ่งบวชพระอยู่ที่วัดใกล้บ้าน ท่านช่วยโยมมารดาทำนาและช่วยงานบ้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบ้านของเด็กผู้หญิงก็ตาม ท่านทำทุกอย่าง นับว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถกว่าเด็กทั่ว ๆ ไป และที่สำคัญคือมีนิสัยชอบช่วยเหลือเพื่อนบ้าน ไม่ว่าเขาจะทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นงานหนักงานเบา ถ้าพอจะช่วยเหลือได้ท่านจะรีบช่วยทันที โดยไม่ต้องให้คนอื่นร้องขอและชอบถามคำถามเกี่ยวกับธรรมะอยู่เสมอ เช่นเห็นคนตายก็จะถามว่า คนไม่ตายไม่ได้หรือ คนไม่ป่วยไม่ได้หรือ อย่างนี้เป็นต้น

ธรรมโอวาท 

หลวงปู่บุญมี สิริธโร เป็นพระสุปฏิปันโนที่เผยแพร่ธรรมด้วยการปฏิบัติ อบรมสั่งสอนสานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาสด้วยการทำจริง ทำตาม ปฏิบัติตาม มากกว่าการอบรม บรรยาย เทศน์ หรือแสดงธรรม แต่ในวาระวันสำคัญของพระพุทธศาสนาหรือการได้รับอาราธนา หลวงปู่จะเมตตาแสดงธรรมเทศนาโปรด ซึ่งมักใช้ภาษาอีสาน และมีผญาภาษิตของภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเปรียบเทียบให้ญาติโยมได้แปลความ ตีความ วิเคราะห์พินิจพิจารณานัยแห่งความหมายธรรมะ ซึ่งใกล้ตัวและใกล้วิถีชีวิตการดำรงอยู่ เป็นเนื้อแนวเดียวกันกับวัฒนธรรมการผลิตของชุมชน ดังที่จะได้ยกมาเป็นตัวอย่างพอสังเขปดังนี้

หลวงปู่บุญมีได้เทศนาอบรมในวันเข้าพรรษาครั้งหนึ่งว่า การปฏิบัติเหมือนการทำนา มีคราด มีไถ มีการเก็บหญ้า กว่าสิได้หว่านข้าว หว่านแล้วกว่าสิงอก มันกะขึ้นของมันเอง บ่ได้บังคับนี่ฉันใด หัวใจของคนก็คือกัน สงบราบคาบแล้วมันกะสิเกิดเอง เกิดแล้วจังค่อยพิจารณามัน พิจารณาให้มันแตก คันบ่แตก กะให้คาโตเอง ไปศึกษาเอาเองบ่ได้ มันเกิดของมันเอง เมื่อมันเกิดเองเฮาต้องแก้เอง ให้ตัวเองแก้เอง ถ้าแก้ถึกแล้ว มันกะบ่มีที่ไป กะเป็นสุขคือความบ่เป็นหยัง เป็นทุกข์คือบ่อเกิดทุกสิ่งทุกอย่าง กะไปอยู่ความสุขเป็นอารมณ์ของวิปัสนาคิดกะบ่แล้ว วิปัสนาเป็นการขุดฮาก สมถะเป็นการชำระ ผู้หลงหรือฮู้กะอยู่โตเดียวกัน ฮู้เรื่องการปฏิบัติบ่แม่น ฮู้ย่อนการศึกษา จั่งให้มีสติ ฮู้กะให้ฮู้ถึงใจ ฮู้ถึงตน ถึงตัวการอบรมสติ คันบ่ศึกษามันกะบ่แล้ว โตเฮาแก้โตเฮามันจั่งแก้ได้ แก้ให้มันถึงที่สุด มันกะสิแล้วนั้นแหละ

มันเป็นปัจจัตตังทั้งหมด สันทิฏฐิโก เห็นด้วยตัวเอง ปัจจัตตังเวทิตัพโพวิญญูหิ วิปัสสนาสันทิฏฐิโก นอกจากความฮู้ความเห็นเป็นบ่ได้ ทุกข์เกิดความอยาก อยากกะอยากดี อยู่ทางโลกมีแต่ความทุกข์กับความอยาก สองอย่างนี่มันได้รับกัน ศาสนากะอาศัยมรรคอาศัยทางโลก เข้าพรรษาอยู่ในไตรมาส ๓ เดือน นับตั้งแต่มื้อนี้เป็นต้นไป ถึงกลางเดือนสิบเอ็ด บ่จำเป็นบ่ให้นอนบ่อนอื่น บ่ให้ไปแจ้งนอกวัด

สังเกตุเบิ่งวัดมีฮั้วล้อมเป็นเขต ถ้ามีความจำเป็นมีพ่อมีแม่เจ็บป่วยอนุญาติให้ไปดูแลรักษาได้ การอื่นไปบ่ได้ ไปกะด้วยสัตตาหะ ได้ ๖ มื้อ มื้อที่ ๗ ให้มาถึงวัด มื้อนี้คือมื้อที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เป็นมื้อที่พระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมจักรอนัตตาเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ก่อนแสดงพระธรรมจักรกับอริยสัจ ๔ ให้มีการอธิฐานตาม ความสามารถของเจ้าของในธุดงควัตร ๑๓ ข้อเอาข้อใดข้อหนึ่ง คันสิเอาทั้งเหมิด คือสิบ่ได้ เฮ็ดหยังให้เฮ็ดอีหลี อย่าเฮ็ดเล่น ๆ คันเฮ็ดเล่าบ่เป็นหยัง บ่มีสติสตังมันกะบ่อยากได้อีหยัง เลยพากันรักษาวินัย ธุดงค์เป็นวินัย ธรรมะรักษาใจ บำเพ็ญภาวนาให้ธรรมเกิดขึ้น ผู้ใดสิอธิฐานหยังกะให้อธิฐานเอา บิณฑบาตฉันเป็นวัตร ฉันเถื่อเดียว ฉันบ่อนนั่งเดียวห่อแนวกินใส่บาตร อย่าเอาแต่ถุงพลาสติกใส่บาตร ให้ใช้ใบตองห่อ แม่ออกกะต้องอธิฐานใส่บาตร หรือรักษาใจของตนให้มีสติสตัง อันนี้รักษาไว้ปฏิบัติเผื่อหยัง เมื่อนั่งภาวนาให้เป็นผู้มีสติ อย่าให้มันขาด ธรรมะจั่งสิเจริญขึ้น ซาดว่าเฮ็ดซื่อ ๆ บ่มีสติธรรมะมันบ่เกิด เกิดขึ้นมันบ่ดี แนวดีมันบ่ได้ มันบ่เกิดให้ ถ้าสิดีได้นอกจากความมีสติ

สำหรับผญา ปริศนาธรรม และภาษิตคำสอนที่หลวงปู่อบรมสั่งสอนสานุศิษย์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และจริตลีลา ในการอบรมธรรมของหลวงปู่เป็นต้นว่า
    - หลงมันใหญ่ที่สุด
    - ทุกสิ่งทุกอย่างอาศัยสติทั้งหมด
    - อีลุมปุมเป้า สามเปาเก้าขอด สุดยอดพระคาถา บารมีงุมไว้ แก้บ่ได้ เมือบ้านอ่านสาร
    - กกอีตู่เตี้ยต้นต่ำใบดก ฮากบ่ทันฝังแน่น ซ่างมาจีจูมดอกฮากบ่ทันหยั่งพื้น ซ่างมาปี้นป่งใบ    
    - อัศจรรย์ใจกุ้งพุงบ่มีซ่างมาเลี้ยงลูกใหญ่ ไส้บ่มีอยู่ท้องซ่างมาได้ใหญ่มา    
    - แก้วบ่ขัดสามปีเป็นหินแฮ่ พี่น้องบ่แหว่สามปีเป็นอื่น    
    - ชีวิตน้อยนักหนา พึงฮู้ว่าลมหายใจ ชีวิตยังเป็นไป ลมหายใจชีพจร
    - แม่น้ำท่อฮวยงัว บ่มีผู้ใด๋ เฮ็ดขัวข้ามได้ เว้นไว้แต่ผู้ฮู้เหตุผล    
    - ผักหมเหี่ยนริมทางอย่าสิฟ้าวเหยียบย่ำ บัดมันทอดยอดขึ้นยังสิได้ก่ายเดิน
    - กินมำ ๆ บ่คลำเบิ่งท้อง
    - สี่คนหาม สามคนแห่ คนหนึ่งนั่งแคร่ สองคนพาไป
    - ดีหรือชั่วเป็นของประจำตัว
    - เป็นใหญ๋แล้ว เป็นน้อยบ่เป็น
    - สกุณาเป็นเสียงฮ้อง ปฐพีเป็นหม่องเล่น แม่นทีเป็นหม่องอยู่
    - ขวาแข็งแรงกว่า ขวาแข็งแรงที่สุด ปทักขิณา ปทักขิ
    - มีตาให้ดู มีหูให้ฟัง
    - เกิดมาหยัง เกิดมาเพื่อสร้างบุญบารมี หนีให้พ้นทุกข์
    - การปฏิบัติให้มันฮู้ จั่งแบ่งเวลา ให้มันมีเช้า-สาย-บ่าย-เย็น ให้มันมีกิน มีนอน มีเฮ็ด มีทำ เฮ็ดกิจส่วนตัวแล้วกะมาเฮ็ดกิจส่วนรวม
    - ใจประสงค์สร้างกลางดงกะว่าท่ง ใจขี้คร้านกลางบ้านกะว่าดง
    - มุดน้ำอย่าสิเฮ็ดก้นฟู จกฮูอย่าสิเฮ็ดแขนซั่น ๆ 
 

ปัจฉิมบท

หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร เป็นพระสุปฏิปันโน บุตรของกองทัพธรรม พระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น สานุศิษย์คาดว่าหลวงปู่บุญมี ไม่ได้พบหรือได้ฟังธรรมจากพระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต โดยตรง แต่การเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ของหลวงปู่บุญมีอยู่สำนักเดียวกับหลวงปู่เสาร์ คือวัดเลียบและไปพำนักอยู่วัดบูรพาสำนักเก่าดั้งเดิมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตเถระ นั่นเอง ด้วยบริบทและสภาวธรรมของสำนักวัดเลียบ วัดบูรพารามและทราบประวัติของพระอาจารย์ใหญ่ทั้งสอง ขณะที่ศึกษาปริยัติอยู่วัดนี้ ซึ่งเป็นแบบอย่างของการแสวงหาโมกขธรรม เกิดแรงบันดาลใจและมองเห็นลู่ทางธรรมที่เหนือกว่าการศึกษาปริยัติ จึงเป็นสิ่งที่หลวงปู่ฝังใจตลอดเวลา เมื่อไปศึกษาปริยัติธรรมที่เมืองกรุง วัดปทุมวนาราม ก็ได้รับทราบเรื่องราวที่บูรพาจารย์และพระป่ามาพำนักที่นี่ หลวงปู่จึงทิ้งป่าคอนกรีตออกปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษฏ์ ตามรอยพระพุทธองค์และบูรพาจารย์ทั้งสอง โดยมีสหธรรมมิกที่เคยปรนนิบัติรับใช้บูรพาจารย์ที่ธุดงค์ร่วมกันถ่ายทอดคำสั่งสอน มรรควิธีของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่จึงถือว่าบูรพาจารย์ทั้งสองเป็นพระอาจารย์ และมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับกลุ่มกองทัพธรรมสายนี้ที่สุด ดังจะเห็นได้ว่าหลวงปู่เป็นที่เคารพนับถือของพระสุปฏิปันโน ทั้งรุ่นศิษยานุศิษย์หลวงปู่มั่น และรุ่นหลานศิษย์เป็นอันมาก นับตั้งแต่หลวงปู่มหาบัว ญานสัมปันโน หลวงพ่อพุธ ฐานิโย หลวงปู่ศรี มหาวีโร หลวงพ่อเมือง หลวงพ่ออุ่นวัดป่าแก้ว พระอาจารย์อินทร์ถวาย

ดังจะเห็นได้จากงานพระราชทานเพลิงศพ ที่เป็นวาระการชุมนุมของคณะศิษยานุศิษย์สายหลวงปู่มั่นมากที่สุดครั้งหนึ่ง และในงานรำลึกบูชาพระเถราจารย์ฝ่ายปฏิบัติธรรมศิษย์หลวงปู่มั่น ณ วัดโพธิสมพรอุดรธานี ประวัติและรูปของหลวงปู่ก็ได้รับการเผยแพร่ในงานนิทรรศการครั้งนี้ด้วย

หลวงปู่เริ่มอาพาธหนักในช่วงเดือน พฤศจิกายน ๒๕๓๒ ในระหว่างที่พักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าศรีโพธิทอง สาเหตุเกิดจากการหกล้มในขณะเดินเข้าห้องน้ำแล้วเกิดอาการเข่าอ่อน หลังจากนั้นท่านเกิดอาพาธเดินไม่ได้ คณะศิษย์จึงได้พยายามช่วยกันรักษาพยาบาลอาการอาพาธของท่าน ทั้งด้วยยาแผนโบราณและยาแผนปัจจุบัน แต่ยังไม่ดีขึ้น ในที่สุดผู้ใหญ่สัญชัยและกำนันเซ็งจึงได้นิมนต์ท่านไปรักษาแผนโบราณที่  อำเภอสตึก พร้อมกับรักษาที่ ร.พ. ศิริราชด้วยในบางโอกาสจนอาการดีขึ้น

ภายหลังจากนั้น คณะศิษย์จากจังหวัดมหาสารคามได้พากันอาราธนานิมนต์ท่านให้มาจำพรรษาที่วัดป่าเลิง และท่านก็ได้มาจำพรรษาที่วัดป่าเลิงเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ หลวงปู่ก็เกิดอาพาธขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คณะศิษย์จึงได้นำตัวท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น และตั้งแต่นั้นมาอาการอาพาธของหลวงปู่ก็มีแต่ทรงกับทรุดมาตลอดตามลำดับดังนี้

เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์
ครั้งที่ ๑ วันจันทร์ที่ ๒๕ พ.ย. ๒๕๓๔ ออกจาก ร.พ. เมื่อ ๒ ธ.ค. ๒๕๓๔
ครั้งที่ ๒ วันพุธที่ ๒๕ ธ.ค. ๒๕๓๔ ออกจาก ร.พ. เมื่อ ๑๐ ม.ค. ๒๕๓๕
ครั้งที่ ๓ วันศุกร์ที่ ๒๗ มี.ค. ๒๕๓๕ และในเช้าวันที่ ๒๘ มี.ค. ๒๕๓๕ ท่านก็ได้อนุญาตให้ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ ทำการผ่าตัดใส่สายยางทางหลอดลม เข้าโออาร์ เวลา ๑๖.๑๕ ออกเกือบจะเวลา ๑๗.๐๐ น. และฟื้นเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น.

หลังจากนั้นอาการอาพาธของหลวงปู่ก็ทรุดหนักมาเรื่อย ๆ จนในที่สุดหลวงปู่ก็ละสังขารไปด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เวลา ๑๐.๑๐ น. ตรงกับวันจันทร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก สิริรวมอายุได้ ๘๑ ปี ๖ เดือน ๖ วัน เหลือเพียงภาพลักษณ์แห่งความเป็นพระภิกษุ ที่เยือกเย็น เบิกบาน เมตตาหาที่ประมาณมิได้ สันโดษ เรียบง่าย และเป็นแบบอย่างแห่งมรรควิธี ไปสู่ความหลุดพ้น ที่พุทธศาสนิกชนจะต้องปฏิบัติตาม
 

หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร

วัดป่าวังเลิง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร.jpg
bottom of page