top of page

หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ

วัดใหม่บ้านตาล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ประวัติ

    พระอาจารย์คำบ่อ ฐิตปัญโญ มีนามเดิมชื่อ คำบ่อ พวงสี เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ เวลาประมาณ ๐๓.๐๐ น. ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะแม ณ บ้านตาล ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร บิดา - มารดาชื่อ นายทองและนางภู่ พวงสี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ พระอาจารย์คำบ่อเป็นบุตรคนที่ ๑


    ในปฐมวัยพระอาจารย์คำบ่อ ได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่ศาลาวัดศรีษะเกษ บ้านตาล จังหวัดสกลนคร จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เมื่อจบแล้ว โยมบิดา-โยมมารดาจะให้บวชเป็นสามเณร จึงตอบท่านไปว่า ยังไม่บวช จะอยู่ทำงานไปอีกสักระยะหนึ่งก่อนจึงจะบวช โยมบิดา-โยมมารดาท่านก็ไม่ว่าอะไรแม้แต่คำเดียว  ตั้งแต่วันนั้นข้าพเจ้าก็ทำหน้าที่การงานช่วยบิดามารดาให้ดีที่สุด จะไม่ทำให้ท่านเป็นทุกข์เพราะเรา ตระกูลนี้ไม่เจริญเพราะเราก็จะไม่ให้เสื่อมเพราะเรา ตระกูลเจริญเพราะเราก็จะไม่ให้เสื่อมเสียเพราะเรา นี้เป็นความรู้สึกลึกๆ อยู่ในหัวใจของข้าพเจ้า จนบิดามารดาไว้เนื้อเชื้อใจ จะซื้อจะขายอะไรที่จะต้องใช้เงินทองจำนวนมาก ท่านจะมาถามแทบทุกครั้ง ถ้าข้าพเจ้าตกลงอย่างไร ท่านก็จะเอาอย่างนั้น เพราะความไว้เนื้อเชื้อใจในตัวของข้าพเจ้า ท่านทั้งสองเป็นพุทธมามกะ เลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนา เพราะเชื่อว่าความดีก็มีเหตุ ความชั่วก็มีเหตุ ความดีก็เกิดจากการกระทำดีนั้น ความชั่วก็เกิดจากการกระทำชั่วนั้น ฉะนั้น ท่านทั้งสองจึงพยายามสร้างความดี ทำความดี ตามกำลังกายกำลังทรัพย์ กำลังปัญญาของท่าน จนกระทั่งท่านทั้งสองจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ  ฉะนั้น ตระกูลพวงสีนี้จึงเป็นตระกูลเคารพนับถือบวรพระพุทธศาสนาอย่างไม่ลืมเลือนไปจากหัวใจ ในตระกูลพวงสีนี้ ก็นับว่าโชคดีที่ยึดเอาคำสอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลักปฏิบัติในการครองเรือน จึงทำให้ชีวิตความป็นอยู่ของตระกูลพวงสีพอกินพอใช้ไม่รวยและก็ไม่จน พอมีพอกิน

 
    เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ ปีมะโรง อายุได้ ๒๑ ปี วันนั้นคุณตามาที่บ้านประมาณ ๑ ทุ่ม ท่านถามว่ากินข้าวเสร็จหรือยัง เลยบอกท่านว่ายัง ท่านเลยบอกให้รีบไปกินข้าว วันนี้จะพาไปมอบนาคที่วัดตาลนิมิต บ้านตาล ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร แบบนี้เขาเรียกว่าแบบจู่โจมไม่ให้รู้ตัว โยมบิดา -โยมมารดาไม่บอกให้ทราบ แต่ข้าพเจ้ากลับรู้สึกดีใจ จะได้หมดหนี้บุญคุณของท่านเสียที หนี้บุญคุณของบิดามารดา ยังฝังอยู่ในจิตใจไม่หลงลืมตลอดมา ถ้ายังไม่ได้บวชให้ท่านก่อนแล้ว ก็จะไม่แต่งงานเป็นอันขาด เพราะได้ยินญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตาของเธอเขาดีใจมากเพราะได้หลานคนแรกเป็นผู้ชาย ท่านบอกว่าท่านได้กำไรแล้ว คำว่ากำไรคงหมายถึงความดีเท่านั้น คำพูดของท่านคำนี้จึงไม่ลืมเลือนไปจากจิตใจของข้าพเจ้าตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้


     เมื่อไปอยู่วัดป็นนาคแล้ว ก็ได้มีเพื่อนคนหนึ่งได้ตามไปเพื่อจะบวชเหมือนกัน เราก็ดีใจเพราะได้เพื่อน เมื่อเพื่อนไปเป็นนาคอยู่ด้วยกันได้ ๓ วันก็มีเรื่องให้แตกกัน เนื่องจากหลวงพี่สงฆ์ให้ไปช่วยงานที่บ้าน อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ชวนให้ไปด้วยกันแกก็ไม่ไปตาม สุขเพราะความมีเพื่อนก็เลยหายไปอย่างง่าย ๆ แต่ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับครูบาอาจารย์แล้วก็ต้องไป คิดว่าไปไหนก็ต้องมีพระเป็นเพื่อน ไปหาพระก็ต้องมีพระเป็นเพื่อน ไปหาคนก็ต้องมีคนเป็นเพื่อน และไปช่วยสร้างพระอุโบสถที่ยังไม่แล้วเสร็จ ออกเดินทางประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่วัดเจริญราษฎร์บำรุง บ้านมาย อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร มีทั้งหญิง ชาย คนหนุ่ม คนแก่ จำนวนมากช่วยงาน แต่อยู่ไปประมาณเดือนมีนาคม ครูบาอาจารย์อาจมองเห็นว่าจะมองว่าใกล้ไฟ มันร้อนใกล้ค้อนมันเจ็บ ท่านเลยลัดคิวบวชเป็นสามเณรให้


    ท่านก็ได้จับบวชเป็นสามเณรที่โบสถ์น้ำ เรียกว่า อุทกุกเขปสีมา เป็นสามเณรจนกระทั่งเดือนเมษายนอุโบสถที่สร้างก็เสร็จ ทำพิธีพัทธสีมาแล้วทำพิธีบวช โดยมี พระมหาเถื่อน อุชุกโร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระลี ฐิตธัมโม เป็นพระกรรมวาจารย์ และ พระโง่น โสรโย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๕ เวลา ๐๙.๔๕ น. ณ วัดเจริญราษฎร์ เสร็จแล้วก็เดินทางกลับมาที่วัดตาลนิมิต อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

ธรรมโอวาท 

    พระอาจารย์คำบ่อ ฐิตปัญโญ แสดงพระธรรมเทศนา เรื่องสุปฏิปันโน  ณ ศาลากาญจนาภิเษก กรุงเทพฯ  วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๒

 
    วันนี้ขออธิบายคำว่า สุปฏิปันโน คำว่า สุปฏิปันโน ก็คือ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ด้วยการเอากายและใจเป็นหลักของอรรถของธรรม ทำจิตใจให้ผ่องใส เมื่อใจผ่องใสหน้าตาก็ยิ้มแย้ม เบิกบาน ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัว ไม่มืด ไม่มิด ไม่ปิดบังความรู้ความฉลาด เอากายเราเป็นหลักธรรมเพื่อศึกษาพิจารณาว่าธรรมะอยู่ไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร กายเป็นเพียง “หลักธรรม” ต่อเมื่อได้ลงมือฏิบัติจึงจะเป็น “ธรรม” จริง ๆ เรียกว่ามีปัญญามาปฏิบัติให้สมกับตน

 
    กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ เอาฐานกายเป็นหลักในการกำหนด โดยมีอินทรีย์ทั้งห้า (อินทรีย์ทั้งห้า คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา - deedi) ประกอบด้วย เริ่มต้นที่การมีสัทธินทรีย์ คือ เริ่มต้นด้วยการปลูกศรัทธาก่อน ด้วยการให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม ด้วยความเคารพ 


    กรรมฐาน คือ ฐานที่ตั้งแห่งความเพียร โดยดูที่กายและใจเป็นหลักปฏิบัติ เป็นหลักธรรม ตั้งใจทำความดีเพราะไม่มีใครที่อยากเป็นคนไม่ดี ไม่มีใครอยากทุกข์ อยากจน หรืออยากโง่ ทุกคนล้วนต้องการความเจริญรุ่งเรือง ต้องการเป็นคนดี ต้องการสุขสบาย และความสุขจะเกิดได้ก็เมื่อเรามีปัญญา เข้าใจในการปฏิบัติที่เรียกว่า “สุปฏิปันโน” นั่นเอง 
ฝึกกายใจให้มีศีล 


    สุปฏิปันโน ต้องรู้ว่าการปฏิบัติดีเกิดขึ้นที่ไหน เรามีกายและใจเป็นต้นของหลักของธรรม จึงต้องฝึกหัด ประพฤติปฏิบัติกายและใจให้มี ศีล ขึ้นมา ลองพิจารณาดูว่าเรามี ศีลห้า หรือยัง และพยายามทำให้ศีลห้าเกิดให้ได้ ถ้ายังศีลห้าพร่องอยู่ ก็พยายามลดความบกพร่อง เพียรให้ศีลห้าสมบูรณ์ เพราะศีลเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เป็นคนดี ความดีนั้นจะเกิดได้ก็ต้องปฏิบัติ เพราะธรรมะเฉยๆ นั้น เป็นดุ้นๆ อยู่เฉยๆ เหมือนกับท่อนซุง และถ้ามีแต่กายและใจ ไม่นำมาใช้ก็แค่นั้น แต่ถ้าหากว่าเรานำกายและใจมาประพฤติปฏิบัติธรรม ทำให้มีศีลห้าเกิดขึ้นมา เราก็จะมีความสุขในครอบครัว ในบ้านเรือน ในหมู่คณะ จะเห็นว่าในหมู่ผู้มีศีลและธรรมก็จะร่มเย็นเป็นสุข สงบ เยือกเย็น อย่างนี้เรียกได้ว่า ปฏิบัติดีแล้ว ทางกายและทางใจ

 
    อุชุปฏิปันโน คือ ผู้ปฏิบัติตรงแล้วต่อศีล ต่อธรรม มีความอดทน อดกลั้นทางกายทางใจ ไม่ขาดสติ ไม่ว่าทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ต้องภาวนา อย่างไรก็ตาม ศีล เพียงอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องทำใจให้สงบด้วยการภาวนา (สมถะภาวนา) เมื่อใจสงบ เยือกเย็นแล้ว ก็ต้องค้นหาสร้างปัญญา (วิปัสสนาภาวนา) พิจารณาเหตุและปัจจัยแห่งความสุข ความทุกข์ พิจารณาโลกธรรมแปดทั้งด้านที่ปรารถนาและด้านที่ไม่ปรารถนา เอาสิ่งเหล่านี้มาพิจารณาให้เป็นโลกุตตระ ทำตัวให้พร้อมในการปฏิบัติธรรม เพราะเมื่อทำปัจจุบันให้ดีแล้ว อดีตและอนาคตก็จะดีขึ้นมาเอง 


    บุญ นั่นแหละจะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า บุญ ก็คือ ความสุข คือ มี กาย วาจา และใจ ที่ดี มีปัญญา เฉลียวฉลาด สามารถรู้เหตุรู้ผล ทำการงานให้ชอบด้วยอรรถด้วยธรรม รู้เท่าทันว่าโลกียสุข หรือสุขที่เกิดจากลาภ ยศ สรรเสริญ นั้นไม่ถาวร รู้เท่าทันว่าสรรพสิ่ง คนสัตว์ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาของใคร ใครก็สั่งไม่ได้ ใช้ วิปัสสนาภาวนา เพื่อให้ได้พบกับความสุขที่แท้จริง ความสุขที่เที่ยงและยืนยาว ด้วยการประกอบความเพียรให้เป็นผู้มีปัญญา ต้องรู้จักเหตุแห่งสุขและเหตุแห่งทุกข์ 
    เหตุแห่งความสุข ก็เกิดจาก กาย วาจา ใจ 
    เหตุแห่งความแก่ ก็เกิดจาก กาย วาจา ใจ 
    เหตุแห่งความตาย ก็เกิดจาก กาย วาจา ใจ 


    ต้องรู้เท่าทันว่า กายสังขาร นั้นเป็นของประจำโลก มีอยู่เป็นธรรมดา เมื่อรู้เช่นนี้จึงจะละได้ วางได้ ว่าเรามีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นธรรมดา มีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ให้ผล ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาเช่นนี้ จึงจะทำให้เข้าใจจริง ละจากความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทาน กายเราก็คือ ก้อนกิเลส ก้อนธรรมแท้ ๆ ที่จะนำให้เราฉลาด รู้ดี รู้ชั่ว ทำให้เรามีความสุข ความเจริญ รู้ว่ามีชาตินี้ ชาติหน้า รู้บาป รู้คุณ รู้โทษ ว่ามีจริง มีสติพิจารณากายให้เห็นแจ่มแจ้งชัดเจน

 
“เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน” เวทนาก็เกิดจากกายนี้ 


“จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน” การรู้การเห็นในความเจริญ สุข ทุกข์ ดี ชั่ว รู้จักจิตที่เป็นอยู่ จะสุข – ทุกข์ –เสื่อม – เจริญ – ดี – ชั่ว – ทำดี - ละชั่ว อะไรทุกอย่างก็รู้ ถ้าเราไม่ทำชั่วก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่เบียดเบียนตน ถ้าเราทำชั่วชาติหน้าเราก็จะเกิดมาไม่ดี พระพุทธองค์จึงสอนให้ปฏิบัติแต่กุศลธรรมและให้ละวางอกุศลธรรมเพื่อสร้างเหตุดีในอนาคต 


    กุศล คือ ความเฉลียวฉลาด นำสิ่งต่างๆ ที่เกิดกับกายใจมาศึกษาพิจารณา เกิดปัญญาแก้ปัญหาชีวิตตัวเองและปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ได้ด้วย นั่นก็คือเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งศีลและทรงไว้ซึ่งธรรม นำความสุขมาให้ตัวเองและ สิ่งต่างๆ รอบตัว เรียกว่าเป็น สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน เพื่อจะได้เลื่อนชั้นจาก มนุษยสมบัติ เป็น สวรรค์สมบัติ และเลื่อนจากสวรรค์สมบัติไปสู่ นิพพานสมบัติ ในที่สุด 


    พระพุทธองค์ได้ทรงทำตัวอย่างไว้ให้ดูแล้ว โดยทรงทำตัวอย่างการให้ทาน ไว้ในคราวที่ทรงเป็นพระเวสสันดร และทรงทำตัวอย่างการรักษาศีล ในพระชาติที่ทรงเป็นพญานาคภูริทัต 


    “ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน” คือ รู้ธรรม เห็นธรรมแจ่มแจ้งชัดเจนได้ด้วยการพินิจพิจารณาจากจิตใจที่สงบสบายด้วยขณิกสมาธิ (สมาธิชั่วขณะ สมาธิขั้นต้น - พจนากรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์) และอุปจารสมาธิ (สมาธิจวนจะแน่วแน่ - พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์) 


    ปฏิบัติดังที่กล่าวมาแล้วนี้ จึงจะนำความสุขความเจริญมาสู่พวกเราได้ จึงขอให้นำธรรมนี้ไปพิจารณา ปฏิบัติให้เกิดศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แล้วจะได้พบความสุขอย่างพระอริยเจ้าทั้งหลาย 

หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ.jpg
bottom of page