top of page

หลวงปู่อุทัย สิรินธโร

วัดเขาใหญ่เจริญธรรม ญาณสัมปันโน ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
หลวงปู่อุทัย สิรินธโร.jpg

ประวัติ

    หลวงพ่ออุทัย สิริธโร มีนามเดิมว่า นายอุทัย บุญทศ ซึ่งเป็นนามสกุลฝ่ายโยมคุณยาย ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙ ณ บ้านหนองบก ตำบลหนองหิน อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันขึ้นกับ จังหวัดยโสธร) โยมบิดาชื่อ นายเสาร์ กาประจง โยมมารดาชื่อ นางพันธ์ บุญทศ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนโต คนรองเป็นชาย และคนสุดท้องเป็นหญิง

 
    การศึกษาท่านเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ นับว่าสูงสุดในชนบทสมัยนั้น เมื่อเรียนจบแล้ว ท่านออกมาทำงานช่วยโยมบิดา - มารดา เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน เป็นต้น กระทั่งอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ณ วัดสำราญนิเวศ ตำบลปุ่ง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันขึ้นกับ จังหวัดอำนาจเจริญ) โดยมี พระครูทัศนประกาศ (บุ จนฺทสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระใบฎีกาอ่อน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “สิริธโร” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งศิริ (ศรี)


    ครั้นเมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้มาจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าบ้านหนองบก บ้านหนองบก ต.ป่าหนองบก อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ซึ่งเป็นวัดสาขาของวัดป่าหนองไคร้ ของ หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก เป็นเวลา ๓ พรรษา (พ.ศ. ๒๔๙๙-๒๕๐๑) แล้วออกแสวงหาครูบาอาจารย์ โดยมาพักปฏิบัติธรรมจำพรรษาอยู่กับ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร และหลวงปู่แว่น ธนปาโล ณ วัดสันติสังฆาราม บ้านบัว ต.สว่าง อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร เป็นเวลา ๒ พรรษา (พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๐๓) จากนั้นท่านมาพักปฏิบัติธรรมจำพรรษาอยู่กับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ วัดถ้ำขาม บ้านคำข่า ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร และวัดป่าอุดมสมพร บ้านนาหัวช้าง ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร จนกระทั่งหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านได้ละสังขารลงเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐


    หลังจากนั้นหลวงพ่ออุทัยได้ปลีกวิเวกมาพักจำพรรษาอยู่ที่ ถ้ำพระภูวัว ต.โสกก่าม อ.เซกา จ.หนองคาย (ซึ่งเป็นที่ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร มาก่อน กระทั่งตั้งเป็นวัดโดยสมบูรณ์จวบจนมาถึงปัจจุบัน) 


    เมื่อครั้นเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ หลวงพ่ออุทัยก็จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำพระภูวัว ร่วมกับหลวงปู่เสถียร คุณวโร เรื่อยมา 


    พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) แห่งวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้แสดงธรรมเทศนากล่าวยกย่อง หลวงพ่ออุทัย สิริธโร ไว้เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ มีความตอนหนึ่งว่า 


    (หลวงตาท่านมองไปที่รูปครูบาอาจารย์เพชรน้ำหนึ่ง) “...นั่นองค์หนึ่งพระภาวนา ชื่อเสถียร ท่านเป็นคนอุดรแล้วท่านไปภาวนาอยู่ทางเขตต่อพม่า เมืองไทย-พม่าเขตต่อ นี่สำคัญมากนะ ชื่อเสถียร บ้านเดิมท่านอยู่อุดร พาพ่อพาแม่ไปอยู่ทางนู้น มีที่สะดวกสบาย การทำมาหาเลี้ยงชีพก็สะดวก ทุกอย่างสงบสงัดทั้งด้านธรรมทั้งด้านโลก ท่านเลยชวนพ่อแม่ท่านไป ท่านเข้าท่าอยู่นะ แล้วได้ประโยชน์ ทางนู้นชื่อเสถียร นู่นอาจารย์ชา ท่านบุญมีท่านอุทัย ท่านวันชัย หลวงพ่อตัน ท่านปัญญา นี่เพชรน้ำหนึ่งมีหลายองค์นะนี่ ท่านสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นสมัยครั้งพุทธกาลเป็นพระอรหันต์ ทุกวันนี่เทวทัตมันขวางหูขวางใจ ว่าอรหันต์ไม่ได้ เทวทัต คือพระที่ท่านจะรู้กันต้องเป็นนักภาวนาด้วยกัน ได้สนทนากันในวงภายในๆ รู้กันแต่ว่าภายใน นอกนั้นไปท่านเหมือนไม่รู้ไม่ชี้ เพราะฉะนั้นวงกรรมฐานกันมองเห็นกันรู้กันทันทีๆ เพราะทราบจากใจ”


    และเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ มีความตอนหนึ่งว่า “...ท่านอุทัย ท่านปฏิบัติราบรื่นมาโดยลำดับนะ ทางด้านปฏิบัติท่านหนักในธรรมมาโดยลำดับ ไม่ค่อยเห็นยุ่งอะไรกับใคร กับงานอะไรไม่ค่อยไป เลยให้ท่านอยู่ที่นั่นเหมาะ การภาวนาหาอรรถหาธรรมจริงๆ ไม่ได้เกี่ยวกับผู้กับคนอะไรนะ เกี่ยวเฉพาะที่โคจรบิณฑบาตได้เท่านั้น นั่นละท่าน หาธรรมท่านหาอย่างนั้น” 

ธรรมโอวาท 

    “...รูปร่างกายของคนเรา ส่วนไหนมันเป็นสาระแก่นสารบ้าง ที่เราไปให้ความหมายว่าเป็นสิ่งที่เป็นสาระ แล้วไปหลงยึดมั่นในรูปนั้นว่า เป็นสาระแก่นสาร ความจริงแล้วรูปร่างกายอันนี้ ทุกสิ่งทุกอาการที่ปรากฏมันล้วนแล้วแต่จะผุพังไปตามสภาวธรรม คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย แล้วสลายกลายไปเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟกันทั้งนั้น หรือจะพิจารณาไปในแง่อสุภะ ความไม่สวยไม่งาม ความปฏิกูลโสโครก ความสกปรกในโลกอันนี้ คำว่าสกปรกโสโครกนั้น มันไม่มีอะไรจะสกปรกโสโครกมากไปกว่ารูปร่างของมนุษย์นี้หรอก...”


สติเป็นเครื่องระงับอารมณ์ที่ไม่ดี

    “ให้สังเกตดูว่า เราฝึกทุกวัน ฝึกตั้งใจทุกวัน ใจของเรา ตั้งได้ดีมากน้อย ขนาดไหน ฝึกตั้งสติทุกวัน กำลังสติของเรา ตั้งได้มากน้อยขนาดไหน อันนั้นก็คือ เอาอารมณ์ของกิเลสตัณหามาเป็นเครื่องวัดว่า ตัวเราเองระงับ อารมณ์ประเภทนั้นได้ และปล่อยวางอารมณ์ประเภทนั้นได้มากน้อยขนาด ไหน ไม่ใช่ปล่อยวางแบบเห็นทุกข์เห็นโทษนะ ถ้าปล่อยวางแบบเห็นทุกข์ เห็นโทษ มันเป็นลักษณะของปัญญา การปล่อยวางแบบสมาธิ เพียงแต่เอา กำลังของสติ เอากำลังของสมาธิ ที่มีความหนักแน่น ระงับกลบมันไว้เฉยๆ ปิดมันไว้เฉยๆ แต่เรื่องกิเลสตัณหาอันนั้น มันยังมีโอกาสที่จะกลับขึ้นมา ใหม่ พุ่งขึ้นมาใหม่ได้อีก
ฉะนั้น จึงให้พิจารณาให้เข้าใจให้รู้แจ้งตามสภาวธรรมความเป็นจริงอันนั้น คือ ใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งนั้นๆ ที่จะให้เกิดปัญญารู้ตามสภาวะความเป็น จริงได้ ก็เรียนรู้จากร่างกายของตัวเอง เรียนรู้จากอารมณ์ฝ่ายเหตุคือกิเลส ตัณหาภายในใจของตัวเอง ดูสิว่า รูปร่างกายของคนเรา ส่วนไหนมันเป็น สาระแก่นสารบ้าง ที่เราไปให้ความหมายว่า เป็นสิ่งที่เป็นสาระ แล้วไปหลง ยึดมั่นในรูปนั้นว่า เป็นสาระแก่นสาร ความจริงแล้ว รูปร่างกายอันนี้ ทุกสิ่ง ทุกอาการที่ปรากฏ มันล้วนแล้วแต่จะผุพังไปตามสภาวธรรม คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย แล้วสลาย กลายไปเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ กันทั้งนั้น หรือจะพิจารณาไปในแง่ "อสุภะ" ความไม่สวยไม่งาม ความ ปฏิกูลโสโครก ความสกปรก ในโลกอันนี้ คำว่าสกปรกโสโครกนั้น มันไม่มี อะไรจะสกปรกโสโครกมากไปกว่ารูปร่างของมนุษย์นี้หรอก”

bottom of page