top of page

หลวงปู่วิไล เขมิโย

วัดถ้ำพณาช้างเผือก อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

ประวัติ

    พระอาจรย์วิไล เขมิโย มีนามเดิมว่า วิไลย์ นามสกุล เตชะบุรมณ์ ถือกำเนิดเมื่อวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑ ปีระกา ตรงกับ วันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ณ บ้านดงบัง ตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ (ปัจจุบันเป็นอ.ประทาย จังหวัดนครราชสีมา) โยมบิดา คือคุณพ่อสงค์ เตชะบุรมณ์ โยมมารดา คือ คุณแม่ทา เตชะบุรมณ์ มีพี่น้องร่วมบิดาและมารดาเดียวกันรวม ๙ คน เป็นผู้ชาย ๘ คน และผู้หญิง ๑ คน โดยหลวงปู่เป็นบุตรคนที่ ๕ และมีน้องต่างบิดา ๓ คน เป็นผู้หญิง ๑ คน (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก) และผู้ชาย ๒ คน รวมจำนวนพี่น้องทั้งสิ้น ๑๒ คน หลวงปู่เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลบ้านดงบัง จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้วออกมาช่วยเหลืองานของครอบครัว จนอายุได้ ๑๖ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร  ภายหลังท่านได้ลาสิกขากลับไปช่วยงานของครอบครัวอีก เมื่ออายุครบเกณฑ์ทหาร หลวงปู่ไปเป็นทหารเกณฑ์ ๒ ปี เมื่อปลดประจำการแล้วก็กลับมาประกอบอาชีพทำไร่ไถนาดังเดิม


    พ.ศ. ๒๕๐๑ ขณะอายุได้ ๒๕ ปี หลวงปู่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนเข้าพรรษาของปีเดียวกันนั้น ท่านได้แปรญัตติมาเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกาย โดยประกอบพิธีอุปสมบทใหม่ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ เวลา ๑๙.๑๐ น. ณ วัดศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยมีพระวินัยสุนทรเมธีเป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาศรี ขันตยาคโม เป็นพระกรรมวาจารย์ พระมหาเขียน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า เขมิโย


    พรรษาที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๑)     หลวงปู่จำพรรากับหลวงปู่บึ้ง ที่เสนาสนะป่าในละแวกบ้านที่อ.บัวใหญ่ เนื่องจากอยู่ใกล้กับโยมบิดา มารดา หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ออกเดินทางเพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์ มาจนถึงจ.อุดรธานี และได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่ขาว อนาลโย ณ วัดถ้ำกลองเพล ซึ่งหลวงปู่ขาวเพิ่งมาตั้งวัดถ้ำกลองเพล เป็นปีแรก


    พรรษาที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๒) จำพรรษาที่วัดป่าแก้วชุมพล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร กับหลวงปู่จันทา ถาวโร หลวงปู่ขาน ฐานวโร รวมพระเณรทั้งสิ้น ๗ รูป ตามความประสงค์ของหลวงปู่ขาว อนาลโย เนื่องจากหลวงปู่ขาวจำพรรษาที่นั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ และได้ย้ายมาตั้งวัดถ้ำกลองเพล เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ ทำให้วัดร้างไป ไม่มีพระอยู่จำพรรษา ชาวบ้านชุมพล จึงเดินทางมากราบเรียนขอพระจากหลวงปู่ขาวไปจำพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วพระเณรทั้งหมด ก็เดินทางกลับมาวัดถ้ำกลองเพล


    พรรษาที่ ๓ - ๑๑  (พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๑๑) จำพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี (ปัจจุบันเป็นอ.เมือง จ.หนองบัวลำภู) เพื่ออุปัฏฐากรับใช้ ศึกษาธรรม และปฏิบัติจิตภาวนากับหลวงปู่ขาว อนาลโย อย่างใกล้ชิดเป็นเวลา ๑๑ ปี ในระหว่างนั้น หลวงปู่มีโอกาสได้พบและฟังธรรมะจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลายองค์ ที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนหลวงปู่ขาว อาทิ หลวงปู่หลุย จันทสาโร และหลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นต้น นอกจากนี้ หลวงปู่มีโอกาสเดินทางไปตามสถานที่ตางๆ ด้วย อาทิเช่น พ.ศ. ๒๕๐๓ หลวงปู่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยพักที่วัดพระศรีมหาธาตุ และได้พบกับพระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่เมตตาหลวง) ซึงเคยอยู่ที่วัดถ้ำกลองเพลเช่นกัน จากนั้นได้ไปวัดอโศการาม โดยขนะนั้นท่านพ่อลี ธัมมธโร ยังมีชีวิตอยู่ แล้วเดินทางต่อไปจังหวัดจันทบุรี และพักอยู่ที่วัดเนินเขาแก้วกับหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท ในระหว่างนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จมาบำเพ็ญพระกุศลที่วัดแห่งนี้ด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้กับวังสวนบ้านแก้วของพระองค์


    พ.ศ. ๒๕๐๘ หลวงปู่เที่ยววิเวกไปทางจังหวัดอุดรธานีและสกลนครโดยได้กราบนมัสการหลวงปู่ ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าอุดมสมพร และพักอยู่ที่นั้นประมาณ ๑๕ วัน จากนั้นได้ไปที่วัดป่าบ้านหนองผือ ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จำพรรษาเป็นเวลา ๕ ปี ก่อนท่านจะมรณภาพอีกด้วย


    ก่อนเข้าพรรษา พ.ศ. ๒๕๑๒ หลวงปู่กราบลาหลวงปู่ขาว เดินทางออกจากวัดถ้ำกลองเพล โดยตั้งใจจะไปออกหาประสบกาณ์ที่แตกต่างออกไป อย่างไรก็ตาม แม้หลวงปู่จะไม่ได้จำพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพลอีกเลย แต่ก็ได้มากราบนมัสการและศึกษาธรรมะจากหลวงปู่ขาวอย่างสม่ำเสมอ


    พรรษาที่ ๑๒ - ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๑๒ - ๒๕๑๗) จำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองพวง ภูเวียง อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น
    พรรษาที่ ๑๘ - ๒๒  (พ.ศ. ๒๕๑๘ - ๒๕๒๒) จำพรรษาที่วัดจันทร์ประสิทธิ์ บ้านสร้างเสี่ยน ต.หนองบัวใต้ อ.ศรีบุญเรือง จ.อุดรธานี (ปัจจุบันเป็นจ.หนองบัวลำภู)
    พรรษาที่ ๒๓ - ๒๕  (พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๒๕๒๕) จำพรรษาที่วัดพระบาทภูพานคำ (วัดพระใหญ่ เขื่อนอุบลรัตน์) อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
    พรรษาที่ ๒๖ - ๒๗ (พ.ศ. ๒๕๒๖ - ๒๕๒๗) จำพรรษาที่เสนาสนะป่า ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ หลวงปู่ได้ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพลด้วย
    พรรษาที่ ๒๘ – มรณภาพ  (พ.ศ. ๒๕๒๘ - ปัจจุบัน)  นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๘ จนถึงปัจจุบัน หลวงปู่จำพรรษาที่วัดถ้ำพญาช้างเผือก บ้านปากช่อง ตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ มาโดยตลอด

 
    ด้วยปฏิปทาอันเรียบง่ายสมถะของหลวงปู่วิไลย์ คนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยรู้จักกันมากนัก แม้กระทั่งหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ยังออกปากชมว่า "หลวงพ่อวิไลย์ สมเป็น ช้างเผือกจริงๆ ศิษย์หลวงปู่ขาวน่ะ อยู่อย่างช้างเผือก เป็นองค์ที่สำคัญมากอีกองค์หนึ่งของชัยภูมิ เป็นพระดี"


    หลวงปู่วิไลย์ดำรงตนอย่างพระป่า เน้นสอนในเรื่องของการปฏิบัติภาวนาเป็นสำคัญ เป็นพระที่มีความเมตตา สุขุม สงบเยือกเย็น สันโดษ มักน้อย อยู่แบบสมถะเรียบง่ายไม่หรูหรา เป็นพระที่ปฏิบัติดี กอปรด้วยศีลและธรรม มีศีลาจารวัตรที่งดงาม ควรค่าแก่การกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ


    ท่านอบรมสอนสั่งพระภิกษุสามเณร รวมทั้งประชาชนญาติโยมทั้งใกล้ไกล ให้รู้จักศีลธรรม เป็นคนดีของสังคม ไม่เบียดเบียนกัน ให้รู้รักสามัคคี รวมทั้งให้เป็นคนที่มีหลักธรรมประจำใจ และให้หมั่นกระทำบำเพ็ญในการให้ทาน การรักษาศีล และการภาวนา เป็นต้น ธรรมะที่หลวงปู่สั่งสอน เป็นธรรมะแบบพระป่าล้วนๆ เข้าใจง่าย 


    หลวงปู่วิไลย์ เขมิโย องค์ท่านเป็นลูกศิษย์อยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.๒๕๐๑ ถึง พ.ศ.๒๕๑๒ ต่อจากนั้นองค์ท่านจึงได้ออกธุดงค์รอนแรมอยู่ตามป่าเขาแลเงื้อมถ้ำเพียงลำพัง จนมาปักหลักอยู่ที่วัดถ้ำพญาช้างเผือก จังหวัดชัยภูมิ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๘ กระทั่งหลวงปู่วิไลย์ ละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันอังคารที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น สิริอายุ ๘๔ ปี

ธรรมโอวาท 

   “...นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายส่วนใหญ่ก็เช่นเดียวกัน นั่งเข้าไปก้นยังไม่อุ่น ยังไม่เท่าหมานั่ง อยากเห็นนั่นเห็นนี่ อยากให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยากรู้นั่นรู้นี่ มันเข้าในเกณฑ์อยากเกินประมาณ คำว่าเกินๆ นี่แหละ มันทำพิษ ทำโลกรุ่มร้อนอยู่ทุกวี่ทุกวัน


    สมมุติเราทำน้ำพริกถ้วยหนึ่ง ในน้ำพริกถ้วยนั้นมีสิ่งที่เกินอยู่ในนั้น มันจะกินได้ไหม...น้ำพริกใส่พริกมากเกินไป น้ำปลามากเกินไป ใส่มะนาวมากเกินไป ลูกศิษย์เกินครู ลูกเกินพ่อแม่ พูดมากเกินไป คุยมากเกินไป โม้มากเกินไป บ่นมากเกินไป จู้จี้มากเกินไป หึงมากเกินไป ระแวงมากเกินไป สงสัยมากเกินไป ดีใจมากเกินไป เสียใจมากเกินไป รักมาก ชังมาก พระพุทธองค์ตรัสว่ามัชฌิมาปฏิปทา ให้พอดี น้ำพริกพอดีกินได้เอร็ดอร่อย ที่พูดมาทั้งหมดให้ระวังอย่าให้มันเกินประมาณ ประมาณคือขอบเขตอย่าให้มันเกินออกไป มันจะไม่พอดีพองามพอเหมาะพอสม


    อาตมาคิดเห็นความอยากของคนที่เกินประมาณ จะทำสิ่งใดก็อยากได้ผลเร็วๆ ให้ทันจิตทันใจ ทำปุ๊บตอบปั๊บ ทำวันนี้เห็นวันนี้ สมมุติเราทำบาปเสร็จ เกิดหม้อนรกปุ๊ปขึ้นเดี๋ยวนั้น เห็นยมบาลเดี๋ยวนั้น หัวใจมันจะไม่ช็อคตายหรือ มันอัปรีย์จังไรจริงๆ สมมุติมีเด็กหญิงคนหนึ่งอายุ ๓ - ๔ ขวบ เกิดมีท้องตั้งครรภ์ขึ้นมา เราจะเห็นว่าเป็นอย่างไรในเมื่อมันไม่สมควรจะเป็น มันฝืนธรรมชาติ ปลูกข้าวลง คอยจะขยี้เอาเม็ดมากิน เคยมีไหม น้ำยังไม่เต็มตุ่มเต็มไห จะร้องขออ้อนวอนให้มันล้นออกมาจากปากหม้อปากไห ตายแสนชาติก็ไม่เจอ ความอยากมันเกินพระพุทธเจ้า เลยไปแล้ว เลยไปหาพระเทวทัตแล้ว อเวจีโน้น


    พระพุทธเจ้าของเราสอนให้ดูเหตุดูผล ความสุขเกิดจากเหตุอะไร ดี-ชั่ว บาป-บุญ คุณ-โทษ มรรค-ผล สวรรค์-นิพพาน เหตุดีผลย่อมดี ตอบเหมือนชาวนาปลูกข้าว ชาวสวนปลูกกล้วยมะม่วง ชาวนาชาวสวนต่างบำรุงดูแลให้น้ำใส่ปุ๋ยเป็นอย่างดี งอกงามสมบูรณ์ เมื่อถึงฤดูกาลของข้าวออกรวง ใครจะไปหักห้ามไม่ให้มันออกก็ไม่ฟัง ใครจะไปบ่นไปแช่ง ถึงจะเอาหมอเวทมนต์มานั่งบ่นนอนห้ามอยู่กลางทุ่งนา มันก็ไม่ฟังเสียงใครทั้งนั้น กล้วยมะม่วงของชาวสวนก็เช่นเดียวกัน อะไรทุกอย่างในโลกนี้พอเกิดถึงเกิด พอเป็นไปได้จึงเป็นไปได้ พอเป็นพระพุทธเจ้าจึงเป็นพระพุทธเจ้า พอเป็นพระสงฆ์จึงเป็นพระสงฆ์ พอเป็นพ่อจึงเป็นพ่อ พอเป็นแม่จึงเป็นแม่ ปู่ย่าตายายจะเอาเด็กมาเป็น ก็เป็นไปไม่ได้มันผิดวิสัย จะเรียกเด็กว่ายายนั่นตานี่ก็บ้าเท่านั้นแหละ...”

หลวงปู่วิไล เขมิโย.jpg
bottom of page