top of page

หลวงปู่จันทร์  สิริจนฺโท

(เจ้าคุณอุบาลีคุณูปจารย์  สิริจนฺโท (จันทร์))

วัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์  สิริจนฺโท (จันทร์) รูปนี้ นามสกุล ศุภสร เกิดในรัชกาลที่ ๔ ณ วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ เวลาประมาณ ๕ นาฬิกา ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๑๘ ตรงกับวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๙๙ เป็นบุตรหัวปีของหลวงสุโภรสุประการ กรมการเมืองอุบลราชธานี นางสุโภรสุประการ (แก้ว  สุภสร) เป็นมารดา ชาติภูมิเดิมอยู่บ้านหนองไหล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี บรรพชาเป็นสามเณรศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ในสำนักเจ้าอธิการม้าว  เทวธุมมี วัดศรีทอง จังหวัดอุบลราชธานี

 

ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปจารย์  สิริจนฺโท (จันทร์) เปรียญ ๔ ประโยค เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร อาพาธเนื่องด้วยโรคชราถึงมรณภาพ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ คำนวณอายุได้ ๗๗ ปี พรรษา ๕๕ ได้พระราชทานโกศโถ มีชั้นรองสองชั้นฉัตรเบญจา ๔ ประกอบศพเป็นเกียรติยศ

โอวาทธรรม  

ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์  สิริจนฺโท ท่านได้แสดงธรรมโอวาทไว้ในข้อความบางตอนของหนังสือ อัตตโนประวัติและธรรมบรรยายของท่านดังนี้ว่า…

 

การที่เล่ามาให้ฟังตลอดเรื่อง ได้เล่าทางลาภแลยศแลกิจจานุกิจให้เห็นว่า อัตตโนมีความสุขสบาย เจริญด้วยลาภยศโดยลำดับแต่อุปสมบทมาตลอดอายุได้ ๗๐ ปีบริบูรณ์

 

ต่อนี้จะเล่า อตฺตตฺถจริยา ในทางธรรมปฏิบัติไว้สู่ฟังอีกโสดหนึ่ง คือในระหว่างอัตตโนมีอายุ ๒๐ ปีล่วงแล้ว อัตตโนมีความจับใจพระพุทธโอวาทข้อที่ว่า อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึงแก่ตน เมื่ออัตตโนยังไม่ฉลาด ก็ถือว่าร่างกายจิตใจนี้เอง เป็นตน จึงได้ตั้งหน้าศึกษาเล่าเรียนพากเพียรรักษาตนให้ตั้งอยู่ในสุจริตทุกเมื่อ มีหิริโอตัปปะประจำอยู่เสมอ ครั้นภายหลังได้ศึกษาธรรมหนักขึ้น ได้อาศัยหนังสือสังขิตโตวาทของเจ้าคุณสมเด็จพระวันรัต (ทับ  พุทฺธสิริ) วัดโสมนัส แสดงว่า “เปล่าไม่มีใครเกิด ไม่มีใครแก่ ไม่มีใครตาย นามรูป ธาตุขันธ์ อายตนะ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปต่างหาก” ดังนี้ก็ตั้งใจปฏิบัติตามแต่เกิดความลังเลไม่แน่ใจ เพราะผิดความเห็นเดิมไป แต่เดิมเห็นว่าร่างกายจิตใจเป็นตน คือ รูปนาม ธาตุ ขันธ์ อายตนะนั่นเอง ครั้นมาพิเคราะห์ตามตำราของท่านว่าไม่ใช่ตน ยิ่งเกิดความสงสัยใหญ่โตขึ้น แต่ก็คงเชื่อว่า นามรูป ธาตุ ขันธ์ อายตนะ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ตามท่านนั้นเอง แต่ติดอนัตตาอยู่ประมาณ ๑๐ ปี เมื่อสังเกตดูผล คือ ความสงบ ราคะ โทสะ โมหะ ก็ไม่สู้จะมีอำนาจอะไรนัก ใจก็จางออกจากตำรา ยึดไตรสิกขา เชื่อแน่ว่าท่านที่เดินตามไตรสิกขาได้สำเร็จมรรคผลนับด้วยแสนด้วยโกฏิเป็นอันมาก เราจะมายึดมั่นในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่เพียงเท่านี้ จะถือเอาว่าเป็นปัญญาก็ยังกระไรอยู่ จะเสียเวลามากไป แต่นั้นก็ตั้งหน้าเจริญสติ เพื่อจะให้เป็นองค์สัมมาสมาธิ แต่วิธีคุมใจเป็นของลำบากมาก เพราะเป็นผู้เกี่ยวอยู่ในหมู่ในคณะ พรักพร้อมอยู่ด้วยลาภแลยศ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีเวลาปลีกออกหากายวิเวกได้บ้างบางสมัย เนื้อความในธรรมนิยามสูตรทำให้เกิดความฉลาดขึ้นมาก เหตุที่ท่านวางท่ากระเหย่งไว้ทำให้เกิดวิจิกิจฉาขึ้นมาก ที่แสดงว่าสังขารทั้งสิ้นไม่เที่ยง สังขารทั้งสิ้นเป็นทุกข์ ธรรมทั้งสิ้นเป็นอนัตตา ทำไมจึงไม่แสดงว่าสังขารทั้งสิ้นเป็นทุกข์ ธรรมทั้งสิ้นเป็นอนัตตา ทำไมจึงไม่แสดงว่าสังขารทั้งสิ้นเป็นอนัตตา เกิดความสงสัยว่า สังขารกับธรรมนี้จะต่างกันอย่างไร ? สังขารก็ชื่อว่า ธรรม ส่วนธรรมจะต่างกับสังขารอยางไร ? คงได้ความตามนัยคัคคัปปสาทสูตรที่ว่า สงฺขตา วา อสงฺขตา วา วิราโค เตสํ อคฺคมกฺขายติ สังขตธรรมก็ดี ผู้รู้จริงย่อมกล่าวว่า วิราคธรรมประเสริฐกว่าธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ดังนี้ คิดจัดเอาตามชอบใจ สงฺขตา วา คิดจัดเป็นสังขารโลก ได้แก่จิต เจตสิก รูป ๓ ประเภท เป็นอุปาทินนกสังขาร ที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นั้น ท่านหมายถึงสังขตธรรม และอสังขตธรรม เป็นอนัตตาแต่มีวิเศษต่างกัน ส่วนสังขตธรรมนั้น อาจดับจากตัวได้ตามนัยที่ว่าเตสํ สุโข ความเข้าไประงับสังขารเหล่านั้นเป็นสุข คือเป็นของไม่มีอยู่แต่เดิมจึงระงับดับได้

 

ส่วนอสังขตธรรมนั้น ชีวิตยังมีอยู่ดับไม่ได้ เพราะเป็นของมีอยู่แต่เดิม เป็นแต่อนัตตาคงเป็นธรรมอยู่ตามหน้าที่ คงได้ความว่า ตนเป็นธรรม ธรรมเป็นตน จึงเป็นอตฺตทีปา ธมฺมทปา อตฺตสรณา ธมฺมสรณา ตรงกับวักกลิสูตรว่า โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ดังนี้ เมื่อปฏิบัติจนเห็นตัวเป็นธรรมเห็นธรรมเป็นตัวแล้ว ก็เป็นประโยชน์ในร่างกายจิตใจทุกแผนก ที่ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ก็ไดความชัดเจนขึ้น แต่ก่อนเห็นร่างกายจิตใจนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอสุจิเป็นอสุภัง หาแก่นสารมิได้ เมื่อสังขารดับแล้ว อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุจิ อสุภัง ดับไปตามกันหมด ยังเหลืออยู่แต่ธรรมซึ่งเป็นของวิเศษให้เราได้พึ่งพาอาศัยอยู่เป็นสุขทุกวัน ร่างกายจิตใจนี้กลายเป็นแก้วสารพัดนึกสำหรับตัวเราทั้งสิ้น จะจำแนกให้ดู ดังที่ว่าร่างกายจิตใจนั้นได้แก่ สกลกายทั้งสิ้น คือ ตา หู จมูก ปาก ทวารหนัก ทวารเบา มือ เท้า อวัยวะน้อยใหญ่ทั้งปวง ล้วนแต่เป็นสมบัติอันประเสริฐสำหรับตัวเราแต่ละอย่าง ๆ ล้วนแต่ของเป็นเอง สำเร็จมาด้วยปุญญาภิสังขารทั้งสิ้น จึงได้บริบูรณ์เช่นนี้ ถึงแม้เราจะเป็นคนฉลาด เป็นช่างวาดช่างเขียนจะตกแต่งเพิ่มเติมให้ดีขึ้นไปอีกก็ไม่ได้ ได้มาอย่างไรก็ต้องอาศัยใช้สอยกันไปจนวันตาย แต่งได้ก็แต่เพียงให้ประพฤติดีประพฤติชั่วเท่านี้เองที่จะแต่งให้สูงให้ต่ำให้ดำให้ขาวให้มีอายุยืนไม่รู้จักตาย แต่งไม่ได้ ที่ว่าร่างกายจิตใจเป็นแก้วสารพัดนึกนั้น พึงพิเคราะห์ดูเรามีตานึกจะดูอะไรก็ดูได้ เรามีหูนึกจะฟังอะไรก็ฟังได้ เรามีจมูกอยากจะรู้กลิ่นอะไรก็รู้ได้ เรามีปากมีลิ้นนึกอยากจะรู้รสอะไรก็รู้ได้ นึกอยากจะกินอะไรก็กินได้ เรามีมือนึกอยากจะทำอะไรก็ทำได้ เรามีเท้านึกอยากจะเดินไปทางใดก็ไปได้ เรามีจิตมีใจนึกอยากจะน้อมนึกตรึกตรองอะไรก็ได้สมประสงค์ ผู้รู้ตนว่าเป็นของวิเศษอย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ได้ความสุข คือใช้ตามหน้าที่ ไม่ให้วัตถุเหล่านั้นเป็นข้าศึกแก่ตน คือ เกิดปฏิฆะโทมนัส ยินดียินร้ายเพราะวัตถุของตน นิสัยของผู้ฉลาดย่อมไม่ให้วัตถุวิเศษของตนเป็นข้าศึกแก่ตน อารมณ์ที่ผ่านไปผ่านมาเลือกเอาแต่ส่วนที่เป็นประโยชน์ ส่วนที่จักเป็นโทษปล่อยให้ผ่านไปเสีย ไม่รับไม่เก็บเข้ามาไว้ คือ หัดชำระวัตถุภายในนี้ให้ผ่องใสสมกับที่ว่าเป็นแก้วสารพัดนึกอยู่ทุกเมื่อ อาศัยความหัดบ่อย ๆ สติก็แก่ขึ้น วัตถุภายในก็ปราศจากโทษ คือ ไม่เป็นข้าศึกแก่ตน    ให้ความสุขแก่ตนทุกอริยาบถ จึงสมกับพุทธโอวาทที่ทรงสั่งสอนไว้ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแก่ตน

 

ถ้าว่าโดยสมมติสกลกายนี้เองเป็นตน ถ้าว่าโดยสกลกายนี้เองเป็นธรรม ที่ว่า อตฺตสรณา ธมฺมสรณา   ให้มีตนเป็นที่ระลึกนี้ คือ ให้เห็นว่าตนเป็นเป็นธรรม ธรรมเป็นตน ความรู้ธรรมเป็นพุทธะ สกลกายที่ทรงคุณความดีไว้เป็นธรรม ความประพฤติให้เห็นความดีมีขึ้นในตนเป็นสังฆะ ผู้ที่มีพุทธะ ธรรมะ สังฆะในตนอย่างนี้ ชื่อว่าผู้ถึงไตรสรณคมน์ในชาตินี้ ตลอดชาติชั้นศีล ชั้นสมาธิ ชั้นปัญญา ชั้นวิมุตติ ชั้นวิมุตติญาณทัสสนะ สุดแท้แต่วาสนาของใครจะถึงได้ในชั้นใด จะต้องได้รับผลคือความสุขตามชั้นตามภูมิของตนทั้งนั้น เล่าความประพฤติธรรมไว้ให้ศิษยานุศิลย์ฟัง เพื่อให้พากันมีที่พึ่ง อย่าเป็นคนลังเลยึดให้มั่นคั้นให้ตาย อย่างมงายเชื่อเกจิอาจารย์ที่สอนนอกรีตนอกทาง ดังพวกที่สอนว่าให้ท่าน รักษาศีล เจริญสมถวิปัสสนาไหว้พระสวดมนต์ ประพฤติพรหมจรรย์ เว้นเมถุน เว้นข้าวค่ำ เหล่านี้เป็นกิเลส ตัณหาทั้งนั้น การไม่ทำนั่นแลเป็นอันหมดกิเลสตัณหา สอนอย่างนี้เป็นลักษณะแห่งอกิริยทิฏฐิถือว่าความไม่ทำเป็นความบริสุทธิ์ เป็นมิจาทิฏฐิอย่าพากันหลงเชื่อ ถ้าใครหลงเชื่อจะพากันจนทั้งชาตินี้ชาติหน้า นิพพานเช่นนั้นเป็นนิพพานของอวิชชา อย่าพากันหลงใหลไปตามเขา

 

ส่วนนิพพานของพระพุทธเจ้าเป็นนิพพานอันมั่งมี ที่เรียกว่านิพพานสมบัติ คือ ทาน, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา, อุเบกขา, แลโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มีสติปัฏฐานเป็นต้น มีอัฏฐังคิกมรรคเป็นที่สุด เหล่านี้เป็นนิพพานสมบัติ ถ้าไม่มีสมบัติอย่างที่แสดงไว้นี้ มีในตนเต็มรอบหรือยัง    ถ้าไม่เต็มรอบยังเป็นคนจนอยู่ไปมิจฉาทิฏฐิเหล่านั้นเป็นคนจนก็ไปได้ แต่นิพพานจน ๆ คือนิพพานอนัตตานิพพานอวิชชาเท่านั้น พวกเราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าต้องประพฤติตนให้มั่งมีเหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านบริบูรณ์ด้วยลาภยศด้วยความสรรเสริญแลด้วยความสุข พระพุทธศาสนาตั้งมั่นถาวรมาได้กว่าสองพันปีนี้ ไม่ได้ตั้งมั่นถาวรมาด้วยความจนเลยตั้งมั่นถาวรมาได้ด้วยความมั่งมีโดยแท้แม้ตัวของอัตตโนผู้แนะนำท่านทั้งหลาย ก็หัดเดินตามจรรยาของพระพุทธเจ้าจึงบริบูรณ์ด้วยลาภแลยศแลความสรรเสริญกับความสุข เป็นผู้มั่งมีทั้งสมบัติภายนอกแลสมบัติภายใน

หลวงปู่จันทร์  สิริจนฺโท(เจ้าคุณอุบาลีคุ
bottom of page