top of page

ประวัติ

หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล เดิมชื่อ ปิ่น บุญโท เป็นน้องชายของ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม อายุห่างกัน ๓ ปี โดยหลวงปู่มหาปิ่นเกิด พ.ศ. ๒๔๓๕ ปีมะโรง เดือน ๔ วันพฤหัสบดี ณ บ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ) เป็นบุตรของ เพียอินทวงศ์ (อ้วน)  และ นางหล้า บุญโท (เพียอินทวงศ์ เป็นตำแหน่งข้าราชการหัวเมืองลาวกาว - ลาวพวน มีหน้าที่จัดการศึกษาและการพระศาสนา) ท่านเกิดมาท่ามกลางวงศ์ตระกูลที่อุดมสมบูรณ์ มีความเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่เด็ก มีความจำดี จดจำคำสอนของพ่อแม่ได้ขึ้นใจ รู้สิ่งใดควรไม่ควร เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสอนไม่เคยละเมิด มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง บิดาและมารดาของท่านมีความเข้าใจพิธีกรรมและหลักปฏิบัติเกี่ยวกับพระสงฆ์ได้อย่างถูกต้อง อยากเห็นอนาคตของบุตรก้าวหน้า จึงตั้งใจให้บวชเรียน ดังนั้น เพียอินทวงศ์ (อ้วน) และ นางหล้า จึงส่งเสริมให้บรรพชา อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ให้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยในบวรพุทธศาสนา เป็นพระภิกษุปิ่น ปญฺญาพโล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ขณะที่ท่านมีอายุ ๒๒ ปี เป็นการบวชในตระกูลต่อจากที่ได้บวชพระภิกษุสิงห์ ขนฺตยาคโม ผู้เป็นพี่ชายซึ่งบวชอยู่ที่วัดสุทัศนารามในปี พ.ศ. ๒๔๕๒


ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ท่านพระอาจารย์มั่นได้เดินทางกลับมาจากจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ มายังจังหวัดอุบลราชธานี จำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพาราม พระภิกษุสิงห์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นครูสอนวิชาสามัญแก่นักเรียนวัดสุทัศนารามเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ท่านได้ยินกิตติศัพท์ว่า ท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก ก็ใคร่ที่จะได้ศึกษาธรรมปฏิบัติ จึงได้เข้าไปถวายตัวเป็นศิษย์ และต่อมาก็ได้นำพระปิ่นผู้เป็นน้องชาย ไปกราบฟังธรรมกับหลวงปู่มั่น ทำให้ท่านเกิดความศรัทธามาก และได้ให้ปฏิญาณว่า จะขอลาไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ สัก ๕-๖ ปีก่อน แล้วจึงจะออกมาปฏิบัติธรรมด้วย และด้วยความที่ท่านขวนขวายสนใจศึกษาเล่าเรียน ในปีประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๐ พระปิ่นจึงได้ออกเดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานี เข้าไปอยู่จำพรรษาอยู่ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร ท่านได้ตั้งใจ ศึกษาเล่าเรียนจากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารนั้น เป็นเวลา ๕ ปี และได้หาความรู้อย่างทุ่มเทชีวิต ความมุมานะอดทนทำให้ท่าน สอบนักธรรมชั้นตรี โท เอก จนกระทั่งได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ตามลำดับ ท่านมีความเข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างดี

ธรรมโอวาท 

พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญพโล ท่านได้รวบรวมสติปัญญาศึกษาธรรม ท่านได้จดจำคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้มาก ท่านได้เทศนาสั่งสอนประชาชนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง ส่วนใหญ่จะได้แก่เรื่องเหล่านี้ คือ ความธรรมจะเกิดขึ้นกับจิตใจได้จริง ถ้าเราตั้งใจ แต่จิตใจของบุคคลปกตินั้น มีกำลังอ่อน จึงไม่สามารถจะกำจัดความชั่วอันเป็นมารที่มีอารมณ์เป็นอาวุธ ซึ่งเข้ามา รบกวนจิตใจได้ ผู้ปรารถนาจะต่อสู้กับกิเลสมารภายในจำต้องทำศรัทธาความเชื่อให้เกิดขึ้น ด้วยการพิจารณาจับเหตุจับผลสอดส่องแสวงหาความจริง แล้วกำจัดความไม่เชื่อให้เสื่อมสูญไป คือ
       ๑. ความเชื่อเมื่อเกิดขึ้น เป็นกำลังกล้า ก็ได้ชื่อว่า เป็น ศรัทธาพละ กำลังคือศรัทธา
       ๒. ทำความเพียรให้เกิดขึ้น กำจัดความเกียจคร้านเสียได้ เมื่อความเกียจคร้านไม่มีเข้ามาครอบงำใจ ก็เป็นวิริยะ ความบากบั่น หรือ ความเพียรนี้ เมื่อมีกำลังกล้าก็เป็นวิริยะพละ
       ๓. ทำสติความระลึกได้ให้เกิดมีขึ้น กำจัดความหลงลืมสติให้เสื่อมไป เมื่อมีกำลังแก่กล้า ก็เป็นสติพละ
       ๔. ทำใจให้มั่นคงไม่คลอนแคลน กำจัดความฟุ้งซ่านเสียได้ เมื่อมีกำลังกล้า ก็เป็นสมาธิพละ
       ๕. ทำความพิจารณาตามความเป็นจริงในอารมณ์ที่ได้ประสบพบเห็น เป็นเครื่องกำจัด ความรู้ผิดเห็นผิดให้เสื่อมหายไป เมื่อมีกำลังกล้า ก็เป็น ปัญญาพละ


ฉะนั้น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา จึงเป็นธรรมดาที่มีอุปการะเป็นเครื่องอุดหนุนใจ เพื่อเป็นกำลังเข้าต่อสู้กับข้าศึกภายในใจของตนเสียได้ ก็ถึงความเป็นใหญ่เป็นไทแก่จิตใจของบุคคลนั้น ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ กิเลสมารย่อมสงบไม่เกิดขึ้นครอบงำ จิตใจอีก ผู้ปฏิบัติเท่านั้น จะได้ชื่อว่า เป็นผู้รู้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้ เพราะทรงทำความเป็นผู้รู้ให้เกิดมีขึ้นด้วยอาศัยพละ ตลอดจนถึงอินทรีย์เป็นลำดับ ด้วยประการฉะนี้
       องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ทรงสั่งสอนโปรดเวไนยสัตว์ว่า
       อคติ แปลว่า ความลำเอียง พระพุทธองค์ทรงจัดเป็นสิ่งที่เป็นบาปทางใจ คือ
       ๑. ท่านไม่ลุอำนาจด้วยความพอใจ
       ๒. ท่านไม่ลุอำนาจด้วยความโกรธเคือง
       ๓. ท่านไม่ลุอำนาจด้วยความหลง
       ๔. ท่านไม่ลุอำนาจด้วยความกลัว


เพราะ บาปทางใจนี้ คือ อคติทั้ง 4 ได้แก่ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ธรรมบทนี้ เมื่อไม่ลุอำนาจด้วยอคติ ทั้ง 4 แล้ว ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องสำรวมระวัง พยายามปรารภความเพียร ชำระสิ่งที่เป็นบาปเหล่าน ี้มิให้ครอบงำจิตใจของท่าน


นอกจากนี้แล้ว พระพุทธเจ้ายังทรงชี้ เหตุแห่งความฉิบหายของโภคสมบัติอีก ๖ ประการ คือ 
       ๑. ไม่ให้ดื่มน้ำเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทและความฉิบหายแห่งโภคทรัพย์สมบัติ
       ๒. ไม่ให้เที่ยวกลางคืน
       ๓. ไม่ให้เที่ยวดูการเล่น
       ๔. ไม่ให้ประกอบการเล่นการพนัน
       ๕. ไม่ให้คบคนชั่วเป็นมิตร
       ๖. ไม่ให้ประกอบไว้ซึ่งความเกียจคร้านเนือง ๆ
       

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีว่า ผู้มีศีล มีธรรม แม้จะใช้ชีวิตเป็นฆราวาสก็อยู่ด้วยความสันติสุข ไม่มีกิเลสเครื่องหยาบ ๆ ทะเลาะเบาะแว้งกัน ย่อมตั้งอยู่ใน สังคหวัตถุ ๔ ประการ คือ     
       ๑. ทาน การให้
       ๒. ปิยวาจา วาจาอันไพเราะ
       ๓. อัตถจริยา ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่โลก
       ๔. สมานัตตตา ความมีตนเสมอในบุคคลนั้น ในธรรมนั้น ๆ ไม่เป็นผู้ถือตัว ดังที่ท่านได้แสดงไว้ใน ทิศ ๖ นั้นเอง คือ
                ๑. อาจารย์กับศิษย์ ก็เคารพบำรุงซึ่งกันและกัน
               ๒. มารดาบิดากับบุตร ก็เคารพบำรุงซึ่งกันและกัน
               ๓. สามีภรรยา ก็สงเคราะห์บำรุงซึ่งกันและกัน
               ๔. เพื่อนกับมิตร ก็สงเคราะห์บำรุงซึ่งกันและกัน
               ๕. นายกับบ่าว ก็บำรุงสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน
               ๖. สมณพราหมณ์กับกุลบุตร คือ อุบาสก อุบาสิกา ก็บำรุงสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน

 

ท่านอริยะย่อมอยู่เป็นสุขก็เพราะมีธรรมเป็นที่พึ่งและที่อาศัย ดังต่อไปนี้       
       ๑. สักกายทิฐิ ไม่เห็นกายเป็นตน ไม่เห็นตนเป็นกาย ไม่เห็นกายมีในตน ไม่เห็นตนมีในกาย เหล่านี้เป็นต้น เช่น ใน เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ ก็เหมือนกัน
       ๒. วิจิกิจฉา ท่านข้ามทิฐิทั้ง ๒ ได้แล้ว เชื่อต่อกรรม และ ผลของกรรม
       ๓. สีลัพพตปรามาส ท่านเป็นผู้ไม่ถอยหลัง มีแต่เจริญก้าวหน้าไปจนถึงที่สุด 
    

ท่านพิจารณาเห็นแล้วในสัจธรรมตามเป็นจริงว่านี่ทุกข์ นี่เหตุให้เกิดทุกข์ นี่คือธรรม เป็นที่ดับทุกข์ นี่คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรม อันเป็นที่ดับทุกข์ คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 

ปัจฉิมบท

พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าศรัทธารวม ได้ ๕ พรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้ติดตามหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระในจังหวัดปราจีนบุรี ตามคำอาราธนาของท่านเจ้าคุณ พระปราจีนมุนี ตั้งแต่เมื่อยังไม่ตั้งสำนักสงฆ์วัดป่าทรงคุณ ท่านพักที่สวนมะม่วงของอาจารย์พร บรรลือคุณ


ปี พ ศ. ๒๔๘๑ เมื่อครั้งจัดงานบำเพ็ญกุศลครบรอบ ๘๐ ปี ของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล พระมหาปิ่น กับ หลวงปู่สิงห์ได้ร่วมกันเรียบเรียงหนังสือที่ระลึก เรื่องกติกาวิธีสัมมาปฏิบัติ ว่าด้วยข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สำหรับสำนักชีกรรมฐาน ถวายมุทิตาจิตแด่หลวงปู่ใหญ่เสาร์เพื่อพิมพ์แจกในงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ หลวงปู่สองพี่น้องนี้ก็ได้ร่วมกันแต่งหนังสือ แบบถึงพระไตรสรณคมน์ โดยถวายหลวงปู่ใหญ่ให้พิจารณาตรวจทานด้วย

 

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๒ พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่จังหวัดปราจีนบุรีอีกในครั้งนี้ท่านพักที่สำนักสงฆ์ วัดป่าทรงคุณ ตำบลดงพระราม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ๕ พรรษา


ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในพิธีอุปสมบท พระอาจารย์สุวัจน์  สุวโจ (ทองศรี) ณ วัดสุทธจินดา อ.เมือง จ.นครราชสีมา 

 

ครั้นเมื่อหลวงปู่ใหญ่เสาร์ ได้มรณภาพลงที่วัดอำมาตยาราม นครจำปาศักดิ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ หลวงปู่สิงห์ พระมหาปิ่น และคณะศิษย์ ได้เดินทางไปรับศพหลวงปู่ใหญ่ และยังเป็นกำลังสำคัญในการจัดงานถวายเพลิงศพของหลวงปู่ใหญ่ที่วัดบูรพา ในเมืองอุบลฯ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖

 

เมื่อกลับจากจังหวัดปราจีนบุรีแล้ว ในปี พ ศ. ๒๔๘๗-๒๔๘๘ หลวงปู่พระมหาปิ่น ได้อาพาธอยู่ที่วัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงนั้น พระอาจารย์ฝั้นซึ่งได้รับคำสั่งจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ซึ่งอาพาธอยู่ ให้เข้ามาถวายธรรมโอสถ ซึ่งสมเด็จพอใจในพระธรรมเทศนานั้น จึงได้สั่งให้พระอาจารย์ฝั้นอยู่ที่อุบลราชธานีเพื่ออุปัฏฐากสมเด็จ

 

ในพรรษานั้น ในช่วงเวลาที่พ้นเวลาอุปัฏฐากสมเด็จ พระอาจารย์ฝั้นก็ประกอบยารักษาโรค ถวายพระอาจารย์มหาปิ่น ซึ่งปีนั้นกำลังอาพาธด้วยโรคปอด อยู่ที่วัดป่าแสนสำราญ พระอาจารย์ฝั้นได้พยายามหาสมุนไพรต่าง ๆ มาปรุง แล้วกลั่นเป็นยาถวายพระอาจารย์มหาปิ่น หยูกยาที่ทันสมัยก็ไม่มี เพราะขณะนั้นกำลังอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ พระมหาปิ่นอาพาธอยู่ ๒ พรรษา ไม่หายและได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙

 

หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระมหาเปรียญรูปแรกที่มีการศึกษาปริยัติธรรม ทรงจำไว้มาก แล้วหันมาสนใจปฏิบัติธรรม ออกธุดงค์รอนแรมไปยังถิ่นทุรกันดาร เพื่อแสวงหาความหลุดพ้น อย่างไม่สนใจใยดีต่อ ลาภ ยศ สักการะ แม้ท่านสามารถที่จะสามารถตักตวงได้ แต่กลับไม่แยแส จนกลายมาเป็นพระนักปฏิบัติ นักแสดงธรรม สู่เป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา จนเป็นที่ยอมรับเคารพนับถือ ของท่านผู้ใฝ่ในการปฏิบัติธรรม

 

ท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม ท่านได้ปฏิบัติตนสมกับคำสวดพรรณนาคุณของพระสงฆ์ หรือ สังฆคุณ ที่ว่า สุปฏิปนฺโน อุชุปฏิปนฺโน ญายปฏิปนฺโน สามีจิปฏิปนฺโน อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส โดยแท้

หลวงปู่มหาปิ่น  ปญฺญาพโล

วัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
หลวงปู่มหาปิ่น  ปญฺญาพโล.jpg
bottom of page