top of page

หลวงปู่สาย เขมธัมโม

(พระครูเขมสารสุธี)

วัดป่าพรหมวิหาร ตำบลโนนเมือง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู

ประวัติ

หลวงปู่สาย เขมธมฺโม มีนามเดิมว่า สาย แสงมฤค เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีจอ ณ บ้านกุดน้ำใส ตำบลกุดน้ำใส อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด โยมบิดาโยมมารดาชื่อ คุณพ่อทอก และคุณแม่เคน แสงมฤค 

 

ท่านได้เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนวัดบ้านนาชม ตำบลแสนสุข อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ก่อนลาออกมาช่วยครอบครัวประกอบสัมมาอาชีพ


การอุปสมบทครั้งแรก ในช่วงวัยหนุ่ม ได้ย้ายถิ่นฐานจากบ้านเดิมที่จังหวัดร้อยเอ็ดไปอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี และได้สมรสกับนางปาน ผายม มีบุตรด้วยกัน ๒ คน โดยท่านได้หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการประกอบอาชีพทำนาและเลี้ยงปลาขาย เมื่ออายุได้ ๔๘ ปี จึงได้หันเหเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ อันเนื่องมาจากท่านได้ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ 


ตอนแรก ท่านคิดว่าคงจะเป็นเพราะภูตผีเจ้าที่เจ้าทางมาทำให้ป่วย ตามความเชื่อของคนแถบนั้น จึงได้ทำเครื่องเซ่นไปไหว้ผีเจ้าที่เจ้าทาง แต่ปรากฏว่าอาการป่วยไม่ดีขึ้น จึงฉุกคิดว่าไม่ใช่การกระทำของภูตผีดังที่เข้าใจ ท่านคิดหาสาเหตุอื่นที่ทำให้ป่วย ดำริขึ้นมาได้ว่าครั้งหนึ่งเคยป่วยมาก่อน ครั้งนั้นได้เคยบนเอาไว้ว่า ถ้าหายป่วยจะบวชแก้บน ต่อมาอาการป่วยหายไปเอง แต่ท่านยังไม่ได้บวช ทำให้ท่านคิดว่าอาจจะเป็นเพราะได้บนบานเอาไว้ แต่ไม่ยอมบวชแก้บน จึงทำให้ต้องกลับมาป่วยอีก เมื่อคิดได้ดังนี้ ท่านจึงตัดสินใจบวชแก้บน โดยเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดโยธานิมิต ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีหลวงปู่อ่อนตา เขมงฺกโร เจ้าคณะอำเภอหนองวัวซอ (ในขณะนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์ 


ภายหลังเข้ารับการอุปสมบทแล้ว อาการป่วยของท่านก็ได้หายเป็นปลิดทิ้ง แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นการบวชเพื่อแก้บนก็ตาม ท่านก็หมั่นปฏิบัติภาวนาอยู่ไม่ขาด การบวชในครั้งนี้ ท่านครองเพศบรรพชิตอยู่ได้นานถึง ๖ พรรษา ก่อนลาสิกขาออกมา สาเหตุเนื่องเพราะมีคนบอกว่าการบวชแก้บนจะต้องสึก ถ้าไม่สึกจะต้องมีอันเป็นไป เพื่อความสบายใจ ท่านจึงขอลาสิกขามาใช้ชีวิตเพศฆราวาส กลับไปอยู่กับครอบครัวเหมือนเดิม


การอุปสมบทครั้งที่ ๒ หันกลับมาใช้ชีวิตในเพศฆราวาสได้ไม่นาน ต่อมานายสาย แสงมฤค เกิดความเบื่อหน่ายชีวิตทางโลก ตัดสินใจขอบวชอีกเป็นครั้งที่ ๒ และนำเรื่องนี้ไปปรึกษาครอบครัวก่อน ซึ่งภรรยาและบุตรต่างยินดีไม่ขัดข้องในความประสงค์ของท่าน ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๑ ณ พัทธสีมาวัดบุญญานุสรณ์ (วัดป่าหนองวัวซอ) ตำบลหนองวัวซอ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมี พระครูประสิทธิ์คณานุการ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสุวรรโณปมคุณ เป็นพระกรรมวาจารย์ และ พระครูโสภณคณานุรักษ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “เขมธมฺโม” แปลว่า “ผู้มีธรรมอันเกษม”

โอวาทธรรม  

• ผู้หนีชาติ ขาดภพ จบเกิด ประเสริฐแท้ ไม่เหมือน ผู้ลอยแพอยู่ในวัฏฏะ เวียนไป วนมา ไม่มีเวลาจบสิ้น 
• คำเขาด่า เขาว่าเสียดสีใดๆ มันไหลเข้าหูใด ให้ไหลออกหูนั้น ท่านจะไม่ทุกข์ใจ เมื่อไม่เก็บมันไว้ ถ่านไม่มีไฟ ความร้อนมันก็หาย 
• แก้ความไม่ดีใดๆ ให้แก้ที่ใจ อย่าไปแก้ข้างนอก เพราะความไม่ดีไม่ชอบมันอยู่ที่ใจ ต้องแก้ไขตรงนี้ จุดนี้สำคัญที่มันฝังอยู่ 
• นักภาวนาอย่าปล่อยสติ ควบคุมมันไว้ให้อยู่กับปัจจุบัน อย่าปล่อยมันไปอดีต อนาคต อย่าพูดให้เสียคำ อย่าทำให้เสียชื่อ ตีนมือให้รักษา มารยาทจรรยาให้งามอยู่ตลอด 
• จิตร้อนให้ถอนด้วยธรรม ใจดำให้ซักฟอกด้วยศีล จะอยู่กินเป็นสุขใจ เมื่อถอนได้ ฟอกได้ อาหารเต็มตา ข้าวปลาเต็มถ้วยเต็มจาน ผู้รับประทานให้รู้จักประมาณ คือ การพอดี อย่าให้โลกตำหนินินทา เหมือนพราหมณ์ผัวนางอมิตตตากินจนท้องแตก
• ผลไม้ก็มีผลดี ผลเน่า คนเราก็มีคนบุญ คนบาป มีทุกภาษาทุกชาติคนบาป คนบุญ ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เขาเป็นธาตุ ๔ ไม่วันหน้าก็วันนี้ เขาจะแตกจะดับกลับไปตามเรื่อง เถียงไม่ขึ้น เขาจะเลือกคืนวันไหนก็ได้ ไม่ใช่ของเราเลย 
• เลิกยึดกายเสียบ้าง ปล่อยวางเสียที เขาเป็นธาตุ ๔ ไม่ใช่ตัวเรา เขาไม่เที่ยง เรื่องของเขา ให้เราปล่อยมือ อย่าถือให้หนัก เมื่อรู้จักความจริงว่ามันไม่เที่ยงตามเรื่องของสังขาร ไม่ยึดมันนั้นถูกทางแท้
• นักชก ระวังหมัด นักปฏิบัติ ระวังกิเลส นักชกก็หมดยกสุดท้าย ความตายก็สุดท้ายของชีวิต คบคนชั่วทำไม นักปราชญ์มีถมไปทำไมจึงไม่คบ
• กรรมดีกรรมชั่วมาจากตัวผู้เราทำ มาจากคำที่เราพูด อาหารใจคือธรรมพระศาสดา อาหารตาคือรูปที่ได้ดู อาหารหูคือเสียงที่ไพเราะเพราะพริ้ง 
• ความอยากเป็นทุกข์ อยากน้อยทุกข์น้อย อยากมากทุกข์มาก ไม่อยากไม่ทุกข์ ผู้มีสุขคือผู้หมดความอยาก 
• จิตมืดบอดด้วยกิเลสตัณหา เพราะขาดแสงปัญญา มันจึงมืดบอด จึงนอนกอดทุกข์ ไม่ลุกไปไหน 
• ช้างเผือกมีกำลังแรงทำลายบ้าน ช้างสารมีกำลังแรงเต็มตัว ไม่เท่าแรงความชั่วของเราผลักดันให้เราหันตกไปในที่ต่ำ
• แก้ตัณหากิเลสต้องแก้ที่ใจ แก้ที่อื่นไม่หาย แก้ที่ใจก็สิ้นเรื่อง มันตั้งบ้านตั้งเมืองมานานอยู่ที่นั้น ตัดกิเลสตัณหาให้ขาด ผู้ใดตัดไม่ขาด ผู้นั้นจะเป็นทาสของมัน หาวันจบไม่พบ 
• ตัวอยู่กับเรา เงามาจากตัว ความดีความชั่วมาจากตัวของเรา เหมือนกับเงามาจากตัวเราไม่มีผิด 
• ปากเขาอยากไปนิพพาน แต่เขาทำงานอยู่ในนรก อะไหล่รถไม่ดี เขายังเปลี่ยนได้ ใจเราคิดไม่ดี เปลี่ยนความคิดใหม่เสียที ความคิดที่ดีๆ กว่านี้มีถมไป 
• ก่อนไม้จะเป็นถ่าน เขาใช้ไฟเผา ก่อนความดีจะเกิดแก่เรา ต้องใช้ธรรมเผากิเลส โลภ โกรธ หลง หายหนี ความงามความดีก็ก้าวเข้ามา 
• บุญมาจาก กาย วาจา ใจ บาปใดๆ ก็มาจากที่นี่ ที่อื่นไม่มีทางมา กาย วาจา ใจ เป็นที่ไหลมาของเขา สุขอยู่ที่กายกับใจ ทุกข์ก็อยู่ที่กายกับใจ บ้านสองหลังนี้เป็นที่อยู่ของสุขและทุกข์
• นายังไม่ถาง อย่าพึ่งทำทางเอาเกวียนมาขนข้าว ยังไม่รู้แจ้งธรรมของพระพุทธเจ้า อย่าว่าตัวสำเร็จธรรม 
• ดูชีดูพระ ให้ดูข้อวัตรปฏิบัติ ดูคฤหัสถ์ให้ดูการทำมาหากิน ผิดธรรมผิดศีลหรือไม่ ให้ดูที่นี่ ดูคนอย่าดูแต่ร่างกาย ดูหญิงดูชายให้ดูความประพฤติ 
• อย่าเชื่อคำโจร อย่าเชื่อคนพาล อย่าเชื่อการทำชั่ว ว่าตัวจะดี สามอย่างนี้จำไว้ เท่าวันสิ้นลมหายใจ ใครเชื่อใครทำจะนำพิษคิดให้ดี 
• คนชั่วอย่าร่วมงาน คนพาลอย่าเอาเป็นมิตร คนสุจริตมีถมไปคบทำไมคนชั่ว มันจะเสียตัวผู้คบ 
• อย่าพูด อย่าทำ สิ่งที่ไม่ควรทำ คำที่ไม่ควรพูด ละอายมนุษย์ผู้มีหู มีตา ผู้เขามีศีลธรรมพระศาสดา เขาจะหัวเราะ 
• ใจไม่คิด ปากไม่พูด ตัวไม่ทำ ความชั่วทรามไม่มีทางมา ใจคิด ปากพูด มือทำ ทำไม่ดีไม่งาม ความชั่วทรามไหลมาหาเราเลย 
• ภพน้อยเราก็คงจะไป ภพใหญ่เราก็คงจะมา เพราะอวิชชาบังใจเราไว้ จึงไม่มองเห็นชาติภพของคนจนเท่าวันนี้ ไม่รู้กี่ล้านภพ ไม่จบสักที
• อย่าดีใจจนเกินไป อย่าเสียใจจนเกินไป อย่าร้อนใจจนเกินไป ให้อยู่ในความพอดีนี้สวยงามมาก ถูกหลักศีลธรรม 
• ว่าวลอยฟ้าอยู่ได้เพราะลม ศาสนาพระโคดมอยู่ได้เพราะเราไม่ปล่อยให้ศีลธรรมสูญหาย สัตว์เขาไม่ดื่มสุรา ผู้ชอบนักหนาคือมนุษย์ ไม่หยุดสักวัน ดื่มกันอยู่เช่นนั้น วันศีล วันพระ ไม่ละอีกด้วย จนๆ รวยๆ ดื่มได้ไม่เลือกคน 
• ผู้ทำความเพียรถึงสว่างคือผู้เดินทางไปพระนิพพาน ไม่มีการพัก พระกรรมฐานต้องอยู่กับความเพียร เหมือนดวงดาวดวงเดือนที่ลอยตัวอยู่บนฟ้า ความเพียรกล้าจึงจะเห็นธรรม 
• ผู้ทำความดีเต็มตัว ไม่เหมือนผู้ทำความชั่วเต็มใจ ผู้ทำความดีเต็มตัว ใครเห็นก็บูชา ผู้ทำความชั่วเต็มใจ ใครเล่าเขาจะบูชา เขาเกลียดน้ำหน้า ไม่ฆ่าก็ขังคุก
• ดีเต็มตัวไม่เหมือนชั่วเต็มตน ดีเต็มตัวเขาว่าคนดี ไม่มีความชั่ว ชั่วเต็มตนเขาว่าคนทำชั่วไม่มีความดี ดีไปสุคติ ชั่วไปทุคติ เมื่อละโลกนี้ที่ไปของเขาและทั้งพวกเรา ผู้ทำดีชั่ว 
• โจรปล้นไม่เหมือนความเกียจคร้านปล้น โจรปล้นเรายังหาทรัพย์ได้ ความเกียจคร้านปล้น เท่าวันตายเราก็ไม่มีทรัพย์

หลวงปู่สาย เขมธัมโม(พระครูเขมสารสุธี).jp
bottom of page