top of page

หลวงปู่ศรี มหาวีโร

(พระเทพวิสุทธิมงคล)

วัดประชาคมวนาราม อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด
หลวงปู่ศรี มหาวีโร(พระเทพวิสุทธิมงคล).jp

ประวัติ

นามเดิมของท่านชื่อ ศรี เกิดในสกุลปักกะสีนัง เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ตรงกับวันศุกร์ เดือนหก ปีมะเมีย ที่บ้านขามป้อม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม โยมบิดาชื่อนายอ่อนสี โยมมารดาชื่อนางทุม ปักกะสีนัง


    ในช่วงปฐมวัยท่านเข้าศึกษาที่โรงเรียนประชาบาล วัดบ้านขามป้อม ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำท้องถิ่น จบชั้นประถมปีที่ ๖ และได้ขวนขวาย เข้ามาเรียนต่อ ที่โรงเรียนสารคามพิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ การศึกษาของท่าน ในยุคสมัยนั้น นับว่าอยู่ในขั้นดี ท่านได้เข้ารับราชการ เป็นครูในปีรุ่งขึ้น หลังจากสำเร็จการศึกษา ชีวิตการเป็นครู ท่านเริ่มที่ โรงเรียนวัดบ้านชาด ตำบลหัวเรือ มหาสารคาม และต่อมาที่โรงเรียน บ้านสวนจิก ตำบลปอภาร จังหวัดร้อยเอ็ด


    ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธศาสนา ท่านได้บรรพชาอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ณ พัทธสีมาวัดราษฎร์รังสรรค์ บ้านป่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพระโพธิญาณมุนี (ดำ โพธิญาโณ) เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธรรมยุต) เป็นอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา ทางพระพุทธศาสนา เป็นมคธว่า "มหาวีโร" พรรษาแรก ในชีวิตสมณะผู้ละวาง ท่านได้พำนักศึกษาปฏิบัติธรรม อยู่กับท่านพระอาจารย์คูณ อุตตโม วัดประชาบำรุง มหาสารคาม ปีต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านได้จาริกไปจำพรรษ ที่วัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีโอกาสศึกษา ปฏิบัติธรรม เจริญวิปัสสนา กับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งเป็นศิษย์สำคัญของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


    เมื่อออกพรรษาแล้วพระศรี มหาวีโรในครั้งนั้นได้ออกจาริกแสวงธรรม ไปตามวนาป่าเขาราวไพร อาทิ ภูเก้า ภูผักกูด บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม ซึ่งที่ภูผักกูด หรือภูผากูดแห่งนี้ เป็นสัปปายะสถาน ที่พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เคยธุดงค์จาริก มาพำนัก เป็นแหล่งเจริญธรรม ที่ผู้กล้าแห่งกองทัพธรรม ได้มาประพฤติธรรม บำเพ็ญเพียร ด้วยเป็นสถานที่อยู่ไกลจากชุมชน ขาดแคลนขัดสน ในปัจจัยสี่ แต่มีภูมิทัศน์ ที่เหมาะแก่การพัฒนา ภูมิธรรมสัมมาปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง


ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงปู่ศรี มหาวีโร ธุดงค์ไปพำนักที่ถ้ำพระเวส ครั้นเข้าพรรษา ได้ไปจำพรรษา ที่วัดบ้านนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ซึ่งในยุคสมัยนั้น เป็นดินแดนที่ครุกรุ่นไปด้วยสถานการณ์ แห่งความขัดแย้ง ด้านอุดมการณ์ทางการเมือง และสังคม แต่ท่านก็อยู่ด้วยความราบรื่น ปราศจากอันตราย จนกระทั่ง ออกพรรษา จึงจาริกไปยังจังหวัดสกลนคร และปี พ.ศ. ๒๔๙๑ เข้าจำพรรษา ที่วัดโนนนิเวสน์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นการเดินตามทางรอยธรรม พ่อแม่ครูอาจารย์ คือหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเคยมาพำนักที่วัดแห่งนี้มาแต่ครั้งอดีต ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาบารมีธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระบุพพาจารย์ใหญ่ ด้านวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งขณะนั้น อยู่ในช่วงปัจฉิมวัย พำนักอยู่ที่สำนักป่า บ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
พระอาจารย์ศรี มหาวีโร จึงเข้าไปกราบนมัสการ พระเดชพระคุณหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่สำนักป่าบ้านหนองผือ ขออนุญาต พำนักจำพรรษา และศึกษาธรรมกับท่าน ซึ่งหลวงปู่มั่น ก็เมตตาอนุญาต นับเป็นโอกาส อันเป็นมหามงคล ในชีวิตบรรพชิต ที่มีโอกาสศึกษาธรรม และอุปฏฺฐากพระบุพพาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต รวมทั้งมีโอกาสเจริญธรรม กับสหธรรมิกร่วมสำนัก ร่วมครูอาจารย์เดียวกัน เมื่อหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อาพาธพระอาจารย์ศรี ก็มีโอกาสถวายการปฏิบัติ เมื่อท่านพระอาจารย์ใหญ่ถึงแก่มรณภาพ ก็นำความวิโยคอาดูร มาสู่ผู้เป็นศิษย์ ผู้เคารพศรัทธาครูอาจารย์ อย่างสุดจิต สุดใจ พระอาจารย์ศรี มหาวีโร ได้ถวายสักการะ สรีระ หลวงปู่มั่น เป็นครั้งสุดท้าย ในงานถวายเพลิง ฌาปนกิจ ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร


ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๓ พระอาจารย์ศรี มหาวีโร ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนอง ผักตบ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และปีต่อมา ได้มีโอกาส ไปพำนัก จำพรรษาที่ วัดบ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ได้มีโอกาส ศึกษาธรรมกับท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ซึ่งเป็นประธานสงฆ์ในสำนักแห่งนี้


ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้ร่วมสร้างวัดป่าหนองแซง โดยบัญชาของพระธรรมเจดีย์ (จูม  พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี
ท่านพระอาจารย์ศรี ได้ออกจาริกห่างถิ่นมหาสารคาม และร้อยเอ็ดไปนานหลายปี จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านจาริกมายังวัดป่ากุง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาประมาณ ๑๗๐ ปี ท่านเป็นผู้นำศรัทธา ในการพัฒนาวัดป่ากุง ให้เรืองรุ่งโดยลำดับ จนกระทั่งเป็น "วัดประชาคมวนาราม" ที่งามสง่า เป็นศาสนสถาน อันไพศาล สำหรับชาวพุทธ ผู้ศรัทธาในธรรมะ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และดำเนินตามธรรมวิถีของพ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงปู่ศรี มหาวีโร จำพรรษาที่วัดประชาคมวนาราม หรือวัดป่ากุง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา ท่านเป็นผู้นำ เป็นธุระในกิจการงาน พระศาสนา อย่างจริงจังและ มั่นคง สร้างคุณูปการและสาธารณประโยชน์ เป็นจำนวนมาก


พระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี  มหาวีโร) ละสังขารแล้วเมื่อเวลา ๕.๓๔ น. วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ด้วยโรคชรา ภายในศาลากลางน้ำ วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุง) อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด อายุ ๙๔ ปี ๓ เดือน ๑๓ วัน ( ๖๖ พรรษา) หลังจากหลวงปู่ฯอาพาธมาตั้งแต่ ปี๒๕๕๐ ศิษย์ยานุศิษย์นำเข้ารักษาตัวและเข้าออก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่นจำนวนหลายครั้ง

โอวาทธรรม  

• “ของไม่ดีให้สลัดออก”
ขันธ์ห้า ก็หมายถึงตัวของเรา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ท่านกล่าวไว้หมดแล้ว เดี๋ยวนี้เราต้องการอยากเอาของดีมาใส่ขันธ์ของเรา ของไหนไม่ดี ท่านอยากให้สละสลัดออก ล้างออก ซักฟอกออก หาสิ่งของมาขัดออก ให้มันเรียบร้อย ถ้ามันรั่ว หรือทะลุ ก็หาสิ่งของมาอุดรอยรั่วให้มันดี คอยรับเอาธรรมะ ที่ไปค้นคิดพินิจพิจารณา ดูว่า อะไรดี อะไรไม่ดี อีกทีหนึ่ง นี้ท่านว่าให้ซะล้าง หรือซักฟอก ทำความสะอาดขันธ์นี้ให้เรียบร้อย นี้ก็เป็นแนวธรรมะอันหนึ่ง หรือเป็นคติธรรมอย่างหนึ่ง

• ฝึกหัดดัดแปลงจริตนิสัย แก้ไขตัวเอง
ค้นให้มันรู้ให้มันเห็น เห็นธรรมะเห็นคุณค่าเลยละ
ธรรมะของพระพุทธเจ้าท่านจึงว่า
มีรสชาติ รสดีกว่ารสชาติต่าง ๆ ในโลก
เป็นของเลอเลิศกว่า ทุกรส ทุกชาติ
ศีลธรรมหละถ้าปรากฏขึ้นในจิตใจนี้แล้ว สดชื่นเบิกบาน
แม้ไม่นอนทั้งคืน ก็ไม่หิว ไม่กินข้าว ๖–๗ วัน ก็ไม่หิว
ยังสดชื่นอยู่ด้วยภายใน ท่านจึงว่า “อิ่มศีลธรรม”
ถ้าเราได้เห็นอย่างนั้น ..
เราก็จะเชื่อในคุณธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
เป็นของจริง เป็นของดีจริง ๆ ดียิ่งกว่าวัตถุภายนอก

 

•  ต้องเอาศีล ๕ เป็นหลัก พอได้เกิดเป็นคนในชาติต่อไป ถ้าศีล ๕ ขาดตัวไหนตัวหนึ่ง ไม่สมบูรณ์แบบ ถึงเป็นคนก็ไม่สมบูรณ์ บางทีอาจจะไม่ได้เกิดเป็นคน อาจเป็นสิงสาราสัตว์อย่างอื่นก็ได้ ฉะนั้น ศีล ๕ ที่ท่านเรียกว่าเป็น มนุสสธรรม เป็นธรรมะของมนุษย์ ผู้ที่มาเกิดเป็นมนุษย์ ต้องมีศีล ๕

 

• ธรรมะนั้น ถ้าหากเป็นของจริง มันก็จริงอยู่ทุกระยะ ทุกเวลา ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ว่าเกลือมันเคยเค็ม แต่ครั้งพุทธกาลก็เค็ม ทุกวันนี้ ก็เค็มอยู่เหมือนเดิมนั่นหละ

 

• อันตรายของความคิดความจำ

 

• นักปฏิบัติธรรม ต้องมี "สติ-พร้อมเสมอ" ถ้าสติอ่อน มันจะติดสัญญาภาพเก่า ๆ ที่เรา ได้จดจำมา แล้วทั้งสิ้น

 

• กิเลส มันจะหลอกล่อจิตใจเรา ให้ลุ่มหลง เพ้อพกไปได้ แม้อาตมาเอง มันยังหลอก ให้หลงอยู่ กับนิมิต เกือย ๖ ปี

bottom of page