top of page

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

ประวัติ

    ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อจันทร์ เพียแก่นท้าว เป็นปู่นับถือศาสนาพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดีเดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวขาวแดง แข็งแรงว่องไวสติปัญญาดีมาตั้งแต่กำเนิด ฉลาดเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ได้เรียนอักขรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอมอ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะมีความทรงจำดีแลมีความขยันหมั่นเพียร ชอบเล่าเรียนการศึกษา


    เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระพุทธศาสนามีสวดมนต์และสูตรต่าง ๆ ในสำนัก จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปรานีมากเพราะเอาใจใส่การเล่าเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อยเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่ออายุท่านได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน ท่านก็ได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานของบิดามารดาเต็มความสามารถ


    ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่ลืม คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยายเพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก” คำสั่งของยายคอยสะกิดใจอยู่เสมอ


    ครั้นอายุได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่า มีความอยากบวชเป็นกำลังจึงอำลาบิดามารดาบวชท่านทั้งสองก็อนุญาตตามประสงค์ ท่านได้เข้าศึกษาในสำนักท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ วัดเลียบเมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอุปสมบทกรรมเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุฯ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖  พระอุปัชฌายะขนานนามมคธให้ว่า ภูริทตฺโต  เสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาสำนักศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์เสาร์ กันตศีลเถระ ณ วัดเลียบต่อไป


    เมื่อแรกอุปสมบทท่านพำนักอยู่วัดเลียบเมืองอุบลเป็นปกติ ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพารามเมืองอุบลบ้างเป็นครั้งคราว ในระหว่างนั้นได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัย คือ อาจาระ ความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร และอุปัชฌายวัตรปฏิบัติได้เรียบร้อยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกรมนั่งสมาธิกับสมาทานธุดงควัตรต่าง ๆ


    ในสมัยต่อไปได้แสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฎ ที่แจ้ง หุบเขาซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้างทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ทางกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนากับเจ้าพระคุณพระอุบาลี (สิริจันทเถระ จันทร์) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาลิกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงามและถ้ำสิงโตลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัยสิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสาน ทำการอบรมสั่งสอนสมถวิปัสสนาแก่สหธรรมิก และอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสพอใจปฏิบัติตามมากขึ้นโดยลำดับมีศิษยานุศิษย์แพร่หลายกระจายทั่วภาคอีสาน


    ครั้นถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๒ ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ในท่ามกลางศิษย่นุศิษย์ทั้งหลาย มีเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นต้น สิริรวมอายุของท่านได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วัน รวม ๕๖ พรรษา

โอวาทธรรม  

คำที่เป็นคติอันท่านอาจารย์กล่าวอยู่บ่อย ๆ เพื่อเป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำด้วย วาจา ใจ แก่ศิษยานุศิษย์ ดังนี้


    ๑. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ
    ๒. ได้สมบัติทั้งปวงไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง


    เมื่อท่านอธิบาย ตจปัญจกรรมฐานจบลงมักจะกล่าวเตือนขึ้นเป็นคำกลอนว่า “แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตกคาพกเจ้าไว้ แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่” 


    เมื่อคราวท่านเทศนาสั่งสอนภิกษุ ผู้เป็นสานุศิษย์ถือลัทธิฉันเจ ให้เข้าใจทางถูกและละเลิกลัทธินั้นครั้นจบลงแล้วได้กล่าวคำเป็นคติขึ้นว่า “เหลือแต่เว้าบ่เห็นบ่อนเบาหนักเดินบ่ไปตามทางสิถืกดงเสือฮ้าย” ดังนี้แลการบำเพ็ญสมาธิเอาแต่เพียงเป็นบทบาทของวิปัสสนา คือ การพิจารณาก็พอแล้วส่วนการจะอยู่ในวิหารธรรมนั้นก็ให้กำหนดรู้ ถ้าใครกลัวตายเพราะเด็ดเดี่ยวทางความเพียร ผู้นั้นจะกลับมาตายอีกหลายภพหลายชาติไม่อาจนับได้

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต.jpg
bottom of page