top of page

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม

(พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์)

วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ประวัติ

    พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เกิดที่บ้านหนองขอน ต.หัวทะเล อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู ท่านมีนามเดิมว่า สิงห์ บุญโท บิดาชื่อ เพีย อัครวงศ์ มารดาชื่อ หล้า บุญโท การศึกษาสมัยท่านเป็นฆราวาส ท่านได้ศึกษาจนเป็นครูสอนวิชาสามัญได้ดีผู้หนึ่ง พระอาจารย์สิงห์ ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ในสำนักพระอุปัชฌาย์ “ป้อง” ณ วัดบ้านหนองขอน ต.หัวทะเล อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี เมื่ออายุครบบวชก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสุทัศน์ฯ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) สมัยเมื่อดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลอีสานเป็นพระอุปัชฌาย์ นับว่าเป็นสิทธิวิหาริกอันดับ ๒ ของสมเด็จมหาวีรวงศ์ ภายหลังอุปสมบทท่านได้ปฏิบัติและเจริญรอยตามโอวาทแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงประทานไว้โดยย่อว่า รุกขมูลเสนาสนะเป็นต้น ท่านได้มุ่งสู่ราวป่าและปฏิบัติตามเยี่ยงพระอริยเจ้าทั้งหลายที่เคยปฏิบัติมา ด้วยความวิริยะอุตส่าห์พยายามด้วยวิสัยพุทธบุตร พระอาจารย์สิงห์ สามารถรอบรู้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายของกิเลสตัณหาได้อย่างแยบยลด้วยสติปัญญาและกุศโลบายอันยอดเยี่ยมเข้าพิชิตตามฆ่าเสียซึ่งอาสวกิเลสต่าง ๆ ที่เข้ามารุมเร้าจิตใจของท่านได้อย่างภาคภูมิจนสามารถรอบรู้ธรรม นำคณะพระกรรมฐานแห่งยุคนั้นออกเที่ยวอบรมสั่งสอนประชาชนผู้โง่เขลาเบาปัญญาให้หันมานับถือพระพุทธศาสนายึดมั่นในพระไตรสรณคมน์น้อมจิตใจให้หันมาประพฤติปฏิบัติธรรมได้อย่างกว้างขวาง


    พระอาจารย์สิงห์ ได้เข้าถวายตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และได้ฝึกอบรมสมาธิภาวนากรรมฐานอยู่กับหลวงปู่มั่น จนมีกำลังอันแก่กล้า และเนื่องจากท่านเป็นศิษย์ที่ได้รับความไว้วางใจจากท่านหลวงปู่มั่น เป็นอย่างมาก หลวงปู่มั่นจึงได้ให้แยกย้ายไปอบรมสั่งสอนประชาชน พระอาจารย์สิงห์ท่านเป็นพระที่สามารถให้อุบายธรรมแก่ลูกศิษย์โดยไม่ว่าผู้ใดติดขัดปัญหาธรรมแล้ว ท่านจะแนะนำอุบายให้พิจารณาจนกระจ่างเลยทีเดียว ด้วยอำนาจญาณวิเศษ สามารถรู้วาระจิตของศิษย์เป็นบางเวลาที่ศิษย์กลับเข้ามาหาท่านและขออุบายธรรมและขอให้ท่านแก้ไข ฉะนั้นท่านอาจารย์สิงห์ จึงต้องรับภาระหน้าที่แทนหลวงปู่มั่นนับว่าหนักหนาพอควรทีเดียว พระอาจารย์สิงห์ มักจะฝึกให้ศิษย์ทั้งหลายได้อสุภกรรมฐานจากซากศพที่ชาวบ้านเขานำเอามาฝังบ้าง เผาบ้าง หรือไม่ก็ใส่โลงไม้อย่างง่าย ๆ เก็บเอาไว้รอวันเผา บางครั้งท่านจะพาลูกศิษย์ไปเปิดโลงศพหรือขุดขึ้นมาดูเพื่อฝึกพระลูกศิษย์ของท่าน ดังที่พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร) ได้กล่าวถึง  


    พระอาจารย์สิงห์ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านไว้และเมื่อท่านเห็นว่า คณะศิษย์องค์ใดพอฝึกสมาธิภาวนาแก่กล้าตามวาระความสามารถแล้วท่านจะแยกให้ไปอบรมเป็นแห่ง ๆ โดยลำพัง ท่านได้เคยพาคณะศิษย์ของท่านไปปักกลดโดยยึดเอาสถานที่เป็นป่าช้าเก่าแก่เรียกว่า ป่าช้าบ้านเหล่างา จังหวัดขอนแก่น ซึ่งในกาลต่อมาเป็นวัดชื่อว่า วัดป่าวิเวกธรรม อุปมาเป็นกองบัญชาการฝ่ายประพฤติปฏิบัติธรรมส่งเสริมสานุศิษย์ทั้งมวลออกเผยแพร่ธรรมไปตามอำเภอต่าง ๆ จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกาลต่อมา พระลูกศิษย์ของพระอาจารย์สิงห์อีกองค์ซึ่งในกาลต่อมาท่านได้มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดท่านหนึ่งคือ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ซึ่งเคยธุดงค์ในคณะหรือกองทัพธรรมที่มีพระอาจารย์สิงห์เป็นพระหัวหน้าคณะ


    ต่อมาหลวงชาญนิคมซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเลื่อมใสในธรรมของพระพุทธเจ้าและเลื่อมใสในพระธุดงค์กรรมฐานมาก มีประสงค์เป็นอย่างยิ่งที่จะฟื้นฟูจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นศูนย์รวมของพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบจึงได้นิมนต์ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ให้ไปช่วยสร้างวัดป่าสาลวันเพื่อเป็นวัดป่าตัวอย่างของฝ่ายวิปัสสนาธุระซึ่งพระอาจารย์สิงห์ก็รับนิมนต์ตามคำขอร้องของหลวงชาญนิคมสร้าง “วัดป่าสาลวัน” จนเป็นที่เรียบร้อย เดิมบริเวณวัดป่าสาลวันนั้นเป็นป่ารกและมีต้นไม้ที่เป็นมงคลอยู่ต้นหนึ่งซึ่งมีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนา คือต้นสาละ ภายหลังสร้างวัดป่าสาลวันเสร็จแล้ว บรรดาพระลูกศิษย์ที่เป็นยอดขุนพลทางธรรมทั้งหลายได้เดินทางมาอยู่จำพรรษากับท่าน ต่อมาท่านได้พาคณะออกเดินธุดงค์ภายหลังจากออกพรรษาผ่านป่าเข้าผ่านไปในที่ต่าง ๆ จนมาถึง อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ท่านได้ปักกลดลง ณ บริเวณป่าช้า รกร้างว่างเปล่า ท่านพระอาจารย์สิงห์ และบรรดาลูกศิษย์ต่างก็ออกยังหมู่บ้านต่าง ๆ นำธรรมะของศาสดาเข้ามาสู่ประตูบ้าน ให้ชาวบ้านที่ยังติดขัดในความประพฤติยึดถือในสิ่งที่ไร้ประโยชน์ต่าง ๆ หันมารับไตรสรณคมน์ พระอาจารย์สิงห์ ท่านได้ตั้งใจว่าจะพยายามสร้างวัดป่าขึ้นที่นี่ เพื่อให้เป็น   ปูชนียสถานสำหรับผู้มีความสนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ท่านก็ได้ถูกชาวบ้านส่วนใหญ่คัดค้านอย่างรุนแรงและข่มขู่ท่านว่า “ถ้าหากมีการสร้างวัดป่าขึ้นพวกเราจะฆ่าท่าน” ท่านมาพิจารณาด้วยสติปัญญาอันรอบคอบไม่เกรงกลัวต่อคำขู่ ไม่เกรงว่าจะต้องตายด้วยน้ำมือชาวบ้าน ชีวิตนี้พระอาจารย์สิงห์ได้มอบกายถวายชีวิตไว้กับพระพุทธเจ้าแล้ว และด้วยกระแสแห่งพรหมวิหารธรรมของท่าน ซึ่งมีพลังอำนาจได้แผ่ไปยังบุคคลที่ประสงค์ร้ายต่อท่านจึงสามารถเปลี่ยนใจเขาเหล่านั้นให้รับฟังธรรมะที่ท่านแสดงยกเหตุผลอันสุขุมอ่อนโยนป้อนเข้าสู่จิตใจจนระลึกถึงความผิดของตนที่คิดชั่วร้ายต่อพระสงฆ์ ผู้มีความบริสุทธิ์ด้วยศีลธรรม และในที่สุดนอกจากยอมรับธรรมะอันวิเศษแล้ว ยังช่วยกันสร้างสำนักสงฆ์เพื่อถวายแก่พระอาจารย์สิงห์และคณะด้วยจนสำเร็จ


    พระอาจารย์สิงห์ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ขึ้นเป็น พระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระนามว่า พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๐ และได้ละสังขารไปอย่างสงบเมื่อวันที ๘ กันยายน ๒๕๐๗ เวลา ๑๐.๒๐ น. สิริรวมอายุได้ ๗๓ พรรษา

โอวาทธรรม  

การปฏิบัติธรรมกับการอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ
    การปฏิบัติธรรมถ้าเราอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ย่อมจะเปลี่ยนจิตใจเราให้ไปอยู่ในลักษณะที่จะเข้าถึงธรรมชาติรู้จักความจริงตามธรรมชาติ การเข้าถึงธรรมะก็ง่ายเข้าเปรียบเหมือนต้นไม้ ในภาพเขียนย่อมจะไม่เหมือนกับต้นไม้จริง ๆ ในป่าฉันใดปริยัติเปรียบได้กับต้นไม้ในภาพเขียน ส่วนการปฏิบัติเปรียบเหมือนต้นไม้ในป่าจริง ๆ


    พระพุทธเจ้าท่านประสูติท่ามกลางธรรมชาติ กลางดิน โคนต้นไม้ท่านตรัสรู้ที่พื้นดินที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่งท่านปรินิพพานที่ใต้ต้นไม้กลางพื้นดินระหว่างโคนไม้สองต้นในสวนป่าอุทยานแห่งหนึ่งธรรมชาตินี่แหละช่วยให้เรามีจิตสงบแล้วการศึกษาไม่ว่าจะเป็นทางธรรม หรือทางใดก็บรรลุผลได้ดียิ่งขึ้นเป็นธรรมโอวาทที่พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโมให้ไว้กับหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เมื่อครั้งที่ท่านยังบรรพชาเป็นสามเณร


กายนี้คือก้อนทุกข์
“หากสละชีวิตตั้งใจประพฤติปฏิบัติกันจริง ๆ แล้วพระพุทธศาสนาก็ไม่เป็นของยากลำบากและเหลือวิสัยอะไร 
ทำได้จนเต็มความสามารถของตนทีเดียว” “กายนี้คือก้อนทุกข์ กายนี้เป็นที่หมายให้พ้นเสียจากทุกข์ 
ฝึกสติปัญญาให้ดีแล้วมาพิจารณากายนี้ให้แจ้ง 
ก็จะพ้นทุกข์ได้...

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม(พระญาณวิศิษฏ์สมิท
bottom of page