top of page

หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร

วัดถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
หลวงปู่หลุย  จนฺทสาโร.jpg

ประวัติ

    พระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เป็นศิษย์สำคัญยิ่งทุกด้านของพระคุณเจ้าท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ผู้เป็นบูรพาจารย์ เป็นบิดาแห่งวงศ์พระกรรมฐานในสมัยปัจจุบัน ศิษย์สำคัญระดับพระเถราจารย์ใหญ่ที่เป็นที่เคารพบูชา มีชื่อเสียงขจรขจาย เป็นที่คุ้นเคยนามของมหาชนทั่วประเทศ ถือเป็นรุ่นใกล้เคียงกับหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ทั้งสิ้น เช่น พระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ชอบฐานสโม หลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นต้น พระคุณเจ้าหลวงปู่ต่างมีอายุ และอุปสมบทญัตติเป็นธรรมยุตใกล้เคียงกันก่อนหลังดังนี้


     หลวงปู่หลุย เกิด ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๔ ญัตติเป็นธรรมยุต ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๖๘ 
     หลวงปู่ขาว เกิด ๒๖ เมษายน ๒๔๓๔ ญัตติเป็นธรรมยุต ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๖๘
     หลวงปู่เทสก์ เกิด ๒๖ เมษายน ๒๔๔๕ ญัตติเป็นธรรมยุต ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๖๖
     หลวงปู่อ่อน เกิด ๓ มิถุนายน ๒๔๔๕ ญัตติเป็นธรรมยุต ๒๕ มกราคม ๒๔๖๗
     หลวงปู่ชอบ เกิด ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๔ ญัตติเป็นธรรมยุต ๒๑ มกราคม ๒๔๖๗
     หลวงปู่ฝั้น เกิด ๒๐ สิงหาคม ๒๔๔๒ ญัตติเป็นธรรมยุต ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๖๘
    

    ดังนั้นหลวงปู่หลุยจึงญัตติเป็นธรรมยุตก่อนหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ๗ วันแต่ ญัตติเป็นธรรมยุต วันเดียวกันกับหลวงปู่ขาว ต่างก็เป็นคู่นาคซ้ายขวา ซึ่งกันและกัน แม้จะมีอายุน้อยกว่าหลวงปู่ขาวนับ ๑๐ ปี หลวงปู่อ่อนและหลวงปู่ชอบต่างก็มีอายุอ่อนกว่าหลวงปู่หลุย แต่หลวงปู่เทสก์ อุปสมบท ก่อนท่าน ๒ พรรษา ส่วนหลวงปู่อ่อนและหลวงปู่ชอบอุปสมบทก่อน ๒-๓ เดือน แต่นับพรรษาเท่ากันด้วยระยะนับวันขึ้นปีใหม่ส่งถึงวันที่ ๑ เมษายน หลวงปู่หลุยจึงเป็นแม่ทัพนายกองใหญ่และเป็นแม่ทัพหน้ารุ่นเริ่มยุคปฏิบัติธรรมของบูรพาจารย์หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น


    หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เป็นบุตรของคุณพ่อคำฝอย วรบุตร ลูกชายเจ้าเมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี ประเทศลาว และเจ้าแม่นางกวย (สุวรรณภา) วรบุตร ธิดาของผู้มีอันจะกินเขตเมืองเลย เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๔ เวลาอรุณรุ่งจวนสว่างมีพี่สาวต่างบิดา ๑ คน และน้องชายร่วมบิดา มารดาอีก ๑ คน


    เมื่ออายุ ๗ ขวบ บิดาได้ถึงแก่กรรมทำให้มารดาท่านเป็นทุกข์จากการพลัดพรากของรักทั้งจากเป็นและจากตาย จึงอุทิศวิถีชีวิตส่วนใหญ่ ต่อพุทธศาสนา หลวงปู่ซึ่งเคยรื่นเริงสนุกสนาน พาเด็กในละแวกบ้านสนุกกระโดดน้ำ ปีนป่ายต้นไม้จนพลัดตก ซนไปต่างๆ นานา ก็แทบหมดสนุก ด้วยการสูญเสียร่มโพธิ์ร่มไทรของครอบครัว หลวงปู่จึงมักปลีกตัวไปดูสายน้ำ แม่น้ำเลยหลังบ้าน แล้วเปรียบเทียบกับชีวิตมนุษย์เหมือนกับกระแสน้ำ ไปแล้วไม่ยอมกลับ ท่านได้แต่คิด…คิดเพ่งดูน้ำ ดูกระแสน้ำ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของความคิดทางธรรม ภาวนาโดยอาศัยน้ำเป็นอารมณ์ คิดเรื่องชีวิตจนหมกมุ่นเกินวัย จนกระทั่งอายุ ๙ ขวบ จิตตกภวังค์จมลง เกิดนิมิตแสงสว่างสีสรรคล้ายสีรุ้ง และในใจก็รู้สึกมาว่า ต่อไปจะต้องบวช และบวชแบบ กัมมัฏฐาน ทั้งที่ขณะนั้นยังเด็กไม่รู้จักกัมมัฏฐานมาก่อน


    เดิมบิดามารดาตั้งชื่อบุตรชายคนโตนี้ว่า “วอ” แต่เมื่อเข้าโรงเรียน ความมีนิสัยช่างซักช่างเจรจา ช่างออกความเห็นเหมือน “ครูบา” จึงถูกเรียกว่า “บา”จนกลายเป็นชื่อใหม่ของท่าน เด็กชายบาจึงมีโอกาสศึกษาที่โรงเรียนวัดศรีสะอาดจนจบชั้นประถมปีที่ ๓ ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นการศึกษาที่สูงมาก สำหรับเมืองชายแดน หลวงปู่ตั้งใจจะไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ด้วยประสงค์จะรับราชการเป็นขุนหลวง พระ อย่างเพื่อนของบิดา และอยู่ในฐานะที่ มารดาส่งเรียนได้แต่มารดาเป็นห่วงจึงไม่อนุญาตหลวงปู่จึงเสียใจมากที่ไม่ได้ศึกษาต่อ
ต่อมาหลวงปู่ได้ทำงานเป็นเสมียนกับพี่เขยที่เป็นสมุห์บัญชีสรรพากร อำเภอเชียงคาน ปี ๒๔๖๔ ได้ย้ายไปทำงานที่อำเภอแซงบาดาล (ธวัชบุรี) และที่ห้องอัยการภาคจังหวัดร้อยเอ็ด ด้วยการอุปถัมภ์ของอัยการภาคร้อยเอ็ด


    ขณะที่อยู่ที่เชียงคานด้วยหนุ่มคะนอง และชอบสวดมนต์ ประกอบกับอยากแกล้งมารดาและมีการติดต่อกับฝรั่งทางลาว หลวงปู่จึงรู้จักการเสิร์ฟ และผสมสุราอย่างฝรั่งเศส แล้วนับถือศาสนาคริสต์ จนคุณพระเชียงคาน ลุงของท่านเรียกชื่อว่า “เซนต์หลุย” ท่านจึงมีชื่อเรียกใหม่ว่าหลุยแต่บัดนั้นมา ซึ่งไม่ใช่ความหมายของคำว่า “หลุย” ในภาษาอีสาน ซึ่งหมายถึง ไม่ถูกเป้าพลาดเป้าไป ไม่ถูกจุด
    การคลุกลคลีอยู่กับการจัดอาหารเลี้ยงบ่อยๆ ทำให้ท่านได้เห็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทั้งไก่ หมู วัว ควาย ซึ่งบังเกิดความสังเวชสลดใจ จึงออกจาก คริสต์ศาสนาหลังจากนับถือมา ๕ ปี


    การทำราชการของหลวงปู่ไม่สู้จะราบรื่นนัก ด้วยผู้บังคับบัญชาเกิดแคลงใจในตัวท่านจึงรู้สึกอึดอัดใจในชีวิตฆราวาสอย่างยิ่ง ที่เคยรักใคร่เอ็นดู กลับเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับภาพสัตว์ที่ถูกเชือดในงานเลี้ยง ยังตามมารบกวนความรู้สึกอยู่ในมโนภาพ ท่านเคยได้ทราบว่า การบวช จะแผ่บุญกุศลไปให้สรรพสัตว์ที่ตายไปแล้วได้ จึงเป็นเหตุให้ท่านตัดสินใจจะละโลกฆราวาส ลาออกจากราชการแล้วเข้าสู่พิธีอุปสมบท เป็นพระมหานิกาย ณ อำเภอแซงบาดาล ร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยมีอัยการภาคเป็นเจ้าภาพบวชให้ ระหว่างพรรษาแรกที่ธวัชบุรี หลวงปู่ได้พยายามศึกษา พระธรรมวินัยทั้งปริยัติธรรมและปฏิบัติ เมื่อออกพรรษาท่านจึงลาพระอุปัชฌาย์กลับเพื่อไปเตรียมเกณฑ์ทหารที่จังหวัดเลย หลวงปู่ได้เดินทาง ไปทางจังหวัดนครพนมเพื่อนมัสการพระธาตุพนม ระหว่างทางได้พบพระธุดงค์กัมมัฎฐานรูปหนึ่ง มาจากอำเภอโพนทอง สนทนาชอบอัธยาศัย ซึ่งกันและกัน และทราบความมุ่งมั่นของหลวงปู่ที่อธิษฐานปวารณาตัวเพื่อพุทธศาสนา ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความหมดไป ท่านอนุโมทนา จึงมอบกลดและมุ้งให้หลวงปู่ ท่านรู้สึกในพระคุณเป็นที่สุด ได้ใช้ในการภาวนา จนซ่อมแซมปะชุนไม่ได้ และเป็นปัจจัยให้ท่านทำกลด แจกจ่ายพระเณร มาตลอดเวลา หลวงปู่ได้ถวายภาวนาเป็นพุทธบูชา ณ ลานพระธาตุพนมตลอดคืน บังเกิดความอัศจรรย์ กายลหุตา จิตลหุตา กายเบา จิตเบา จึงตั้งสัจจาอธิษฐานว่าจะบวชกัมมัฎฐานตลอดชีวิต


    ท่านอำลาละสังขารคืนวันที่วันจันทร์ที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒  สิริรวมอายุ ๘๘ ปี ๖๕-๖๗ พรรษา

โอวาทธรรม  

    ธรรมเทศนาของหลวงปู่มีมากมายหลายร้อยหลายพันกัณฑ์ เพราะหลวงปู่ได้เทศน์โปรดญาติโยม ลูกศิษย์มากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ยิ่งในระยะหลังที่ท่านออกไปเยี่ยมลูกศิษย์ตามบ้านต่างๆ หลังจากที่ปฏิสันถารถามทุกข์สุขของลูกศิษย์ด้วยความเมตตาแล้ว ท่านจะอบรมสั่งสอนด้วย ทุกครั้ง เป็นประจำมิได้ขาด…ทุกเช้า…ก่อนฉันขังหัน ทุกค่ำ…หลังทำวัตรเย็น… ท่านจะเทศนาสั่งสอนเสมอ


    ท่านได้อธิบายอานิสงส์ของศีลให้ฟังว่า “ศีล ๕ นี่ พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาต่อผู้ครองเรือน ให้รักษาศีล ๕ อย่าดูถูกศีล ๕ นะ เพราะผู้รักษาศีล ๕ ย่อมสำเร็จโสดาบันได้สำหรับศีล ๘ ก็จะสำเร็จถึงอนาคามีได้ …” ท่านจะไม่บังคับว่าใครควรจะรักษาศีล ๕ ใครควรจะรักษาศีล ๘ โดยท่านจะกล่าวนำ เริ่มต้นจากศีล ๕ ซึ่งทุกคนจะต้องกล่าวตาม จากนั้นก่อนที่จะกล่าวนำศีลข้อ ๖-๘ ท่านจะแนะนำให้ผู้ที่รักษาศีล ๕ กราบแล้วนั่งอยู่ ไม่ต้องกล่าวตาม เฉพาะผู้ที่จะรักษาศีล ๘ ให้กล่าวตามคำที่ท่านกล่าวนำต่อไป

bottom of page