top of page

หลวงปู่อ่อน  ญาณสิริ

วัดป่านิโครธาราม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

ประวัติ

    หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เดิมชื่ออ่อน กาญวิบูลย์ เกิดวันอังคารขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล พ.ศ. ๒๔๔๕ (ตามพ่อแม่ของท่านบอก) หรือเกิดวันอังคาร ขึ้น ๕ ค่ำหรือ ๑๒ ค่ำ (ตามปฏิทิน ๑๐๐ ปี) ณ บ้านดอนเงิน ตำบลแซแล อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรของ นายภูมีใหญ่และนางบุญมา กาญวิบูลย์ ซึ่งมีลูกทั้งหมด ๒๐ คน เลี้ยงจนเจริญเติบโตเพียง ๑๐ คน ท่านเป็นคนที่ ๘ ของผู้ที่ยังมีชีวิตรอดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่  ท่านได้รู้จักทำงานช่วยเหลือพ่อแม่มาตั้งแต่อายุได้ ๑๔ ปี  พ่อภูมีใหญ่ได้บวชเป็นพระอยู่นานถึง ๑๔ ปี ก่อนได้ลาสิกขาบทมาแต่งงาน ถึงขณะนี้อายุท่านจึงมากแล้ว ได้ทำหน้าที่ปกครองช่วยเจ้าฝ่ายศักดิ์ขวา ซึ่งเป็นปู่นั่นเอง อัญญาลุงเจ้าเมืองร้อยเอ็ดจึงได้ตั้งชื่อให้ว่าเมืองกลาง (ชื่อใหม่ของภูมีใหญ่) เป็นนักปราชญ์ จำพระปาติโมกข์วิชาคาถาอาคม เสียเคราะห์เสียเข็ญได้อย่างดี ทั้งกลางเมืองและนางบุญมา ต่างเป็นคนมีศีลธรรมประพฤติปฏิบัติ จดจำคำสอนจากพุทธศาสนามาสอน บุตรธิดา และหลานให้เข้าใจบุญบาปได้เป็นอันดี


    เด็กชายอ่อนได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๗ ปี (พ.ศ. ๒๔๖๒) สามเณรอ่อนได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย เมื่อเลิกจากเวลาเรียนแล้ว ก็ต้องเข้าไปรับใช้อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ปัดกวาด ทำความสะอาด ล้างกระโถน รุ่งเช้าก็ออกบิณฑบาต ท่านมีฝีมือด้านการช่าง ได้ร่วมกับพระอาจารย์นำดินมาสร้างพระพุทธรูป แกะสลักไม้ทำบานประตูหน้าต่างที่สวยงามมาก ท่านมีมานะอดทน ขยัน หมั่นเพียร ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดจอมศรีกับท่านพระครูพิทักษ์คณานุการผู้เป็นอุปัชฌาย์ ๓ ปี ท่านมีอายุ ๑๙ ปี จึงเข้าอำลาอาจารย์ ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ท่านอุปัชฌาย์หาว่าอวดดีจึงขับออกจาก วัดจอมศรีไปพักอยู่ที่วัดดอนเงินไปลาโยมพ่อโยมแม่ แต่ไม่ได้รับอนุญาตอ้างว่าคิดถึง


    เมื่อสามเณรอ่อนอายุครบ ๒๐ ปี ในปี ๒๔๖๔ ได้อุปสมบท เป็นพระภิกษุในคณะมหานิกาย ที่วัดบ้านปะโค ตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระครูจันทา (เจ้าอธิการ จันทา) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านดอนเงิน ๑ พรรษา


    ครั้นปี ๒๕๑๘ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เริ่มอาพาธด้วยโรคกระเพาะอาหาร ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดหลายครั้ง อาการพอทรงตัวอยู่ได้ ร่างกายทรุดโทรม แต่ท่านก็ยังปฏิบัติกิจด้วยความอุตสาหะ สงเคราะห์พุทธบริษัท ปฏิบัติธรรมตลอดมิได้เว้น วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๒๔ อาการอาพาธทรุดหนัก จึงได้นำเข้ารักษาที่โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม อุดรธานี (๒๔ พ.ค.) โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ (๒๕ พ.ค.) โรงพยาบาลรามาธิบดี (๒๖ พ.ค.) อาการไม่ดีขึ้น ครั้นวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๔ คืนวันพุธ เวลา ๐๔.๐๐ น. ท่านก็ได้มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ท่ามกลางนายแพทย์และคณะศิษย์ที่ติดตาม สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี เป็นสามเณร ๓ พรรษา เป็นพระ ๕๘ พรรษา


    หลวงปู่อ่อน  ญาณสิริ ได้ดำเนินชีวิตทุ่มเทให้กับพระพุทธศาสนามาโดยตลอดตั้งแต่วัยเด็กได้เข้าถือเพศบรรพชิตเมื่ออายุ ๑๖ปี ออกศึกษาประพฤติปฎิบัติธรรมจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ได้ฝึกฝนอบรมศาสนิกให้ประพฤติปฏิบัติชอบตามท่านมากมาย ได้สร้างสถานปฏิบัติธรรมเพื่ออนุชนนับไม่ถ้วน ได้แต่งเติมพระพุทธศาสนาให้คงสีสันนำหลักธรรมปฏิบัติให้เข้าสู่จิตใจของชาวพุทธ นับได้ว่าท่านเป็นปูชนียบุคคลที่ชาวพุทธไม่อาจลืมเลือน

โอวาทธรรม  

    “จิตเป็นสิ่งสำคัญ สัมมาทิฐิ คือ ความเห็นชอบ คือ ตัวปัญญามันเกิดขึ้น พอปัญญาเกิดขึ้นเท่านั้นแหละ สัมมาทิฐิตัวเดียวชัดเจนขึ้นมา นั่นเป็นอาการของมัน ปัญญาสัมมาทิฐิ เกิดขึ้นมา มันเป็นองค์มรรค ๘ สมบูรณ์บริบูรณ์เลย เบื้องต้นเรายังฟุ้งซ่านอยู่ก็ต้องมาแก้ เราจะเข้าใจจะสงบระงับด้วยอุบายนี้ ความฟุ้งขณะปฏิบัติเพราะเราไปยึดมั่น เรายิ่งยึดเท่าไรมันก็ยิ่งฟุ้ง ดังนั้นท่านเรียกว่า สมุทัย ยุ่งไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง พอปัญญาสัมมาทิฐิเกิดขึ้น สมุทัยก็หาย นิโรธก็เกิดขึ้น การที่เรามาเห็นว่า นี้เป็นสัมมาทิฐิ คือ ตัวมรรคทั้ง ๘ มารวมกันอยู่ ณ ที่เดียวกันนี้


    เมื่อจิตรวมกันในสมาธิแน่วแน่เต็มที่แล้ว สัมมาทิฐิความเห็นชอบก็เกิดขึ้น ณ สัมมาทิฐินั่นเอง คือ เห็นทุกข์ เห็นสมุทัย ส่วนจะละได้มากน้อยขนาดไหน ก็แล้วแต่กำลังของปัญญาสัมมาทิฐิของตน เมื่อละได้แล้วนิโรธ ความดับเย็นสนิทขนาดไหนก็จะปรากฏขึ้นเฉพาะตนในที่นั้น”

หลวงปู่อ่อน  ญาณสิริ.jpg
bottom of page