top of page

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม

วัดป่าหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

ประวัติ

       ท่านพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม ถือกำเนิด เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ จังหวัดระยอง บิดา มารดา ของท่านชื่อ นายบุ่งเลี้ยง และ นางเซี้ยม แซ่จึง ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวน พี่น้อง ๑๔ คน ชีวิตในช่วงปฐมวัย ท่านได้มีโอกาสสัมผัสรสชาติของชีวิตที่ยากลำบาก แต่เต็มไปด้วยกำไรของชีวิต เพราะความไม่ร่ำรวยได้บ่มเพาะลักษณะนิสัยที่ต้องรู้จักอดทนทางกาย อดกลั้นทางจิตใจ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่อวดดี ถือดี ครอบครัวของท่าน บิดา - มารดา มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความขยันขันแข็ง มานะอดทนพากเพียร อุตสาหะ เป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุตร แม้จะลำบากขัดสนในเบื้องต้น แต่บิดา - มารดาของท่าน ก็มีความรักความเอาใจใส่ต่อบุตรทุกคนอย่างอบอุ่นยุติธรรมโดยถ้วนหน้า เหตุนี้เองจึงทำให้บุตรทั้ง ๑๔ คน มีความสมัครสมานปรองดองสามัคคีอย่างแน่นแฟ้น


    ในวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านได้เข้าอุปสมบท ณ วัดตรีรัตนาราม อ . เมือง จ .ระยอง โดยมีท่านพระครูประจักษ์ตันตยาคม เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษา ณ วัดตรีรัตนาราม 4 พรรษา เพื่อศึกษานักธรรม จนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอกในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ แม้ในเบื้องต้นท่านต้องศึกษาเล่าเรียนทางด้านปริยัติ เรียนนักธรรมชั้นต่าง ๆ แต่เมื่อถึงฤดูแล้งทุกปี ท่านจะต้องกราบลาครูบาอาจารย์ ขึ้นไปหาที่พักภาวนากับท่านหลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ หรือบางทีก็ไปศึกษาแนวทางปฏิบัติกับท่านหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ณ วัดถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ . เชียงใหม่


    หลังจากที่ท่านสำเร็จนักธรรมเอกในพรรษาที่ ๔ แล้ว พอพรรษาที่ ๕ ท่านก็มุ่งหน้าสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังมากขึ้น หลังจากที่ได้ทดลองปฏิบัติเป็นครั้งคราว ในหน้าแล้งของทุกปีที่ผ่านมา ดังนั้นพรรษาที่ ๕ ท่านจึงตัดสินใจอยู่ปฏิบัติกับท่านหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ที่วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่ การเจริญภาวนาของท่านมีความก้าวหน้าตามลำดับ ท่านได้ปฏิบัติธรรมชนิดแลกเป็นแลกตาย ในที่สุดธรรมก็ได้แสดงผลให้เห็นอย่างทันตาทันใจ ไม่เป็นที่สงสัยของผู้ปฏิบัติจริง


    เมื่อบังเกิดความอัศจรรย์แก่จิตเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ก็มีพลานุภาพเพียงพอที่จะทำให้ท่านประจักษ์แจ้งแก่ใจแล้วว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ จะมีคุณค่าสูงยิ่งไปกว่าการเดินทางตามรอยพระอรหันต์ ผลจากการปฏิบัติในป่าเขาในช่วงเวลานี้เองทำให้ท่านพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม บังเกิดความมั่นใจว่า ถ้าท่านดำเนินตามแนวนี้ต่อไป ในที่สุดท่านก็จะสามารถนำญาติพี่น้องให้เกิดความศรัทธาที่แน่นแฟ้นต่อพระพุทธศาสนาได้อย่างแน่นอน ท่านเกิดธรรมปีติ อุทานธรรมกับตนเองว่า “ ชีวิตในชาตินี้ ขอทิ้งไว้ในพระพุทธศาสนา ไม่มีคำว่าหวนคืนสู่เพศฆราวาสอีกต่อไป ”


    ด้วยเหตุที่วัดป่าหนองไผ่ มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน นับเนื่องแต่การมาพักปฏิบัติภาวนาและอบรมสั่งสอน ชาวบ้านของท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก่อนปี ๒๔๖๙ แล้วตามด้วยพระอาจารย์ที่เป็นศิษย์องค์สำคัญ ๆ อีกหลายรูป อาทิ ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ , หลวงปู่ฝั้น อาจาโร , หลวงปู่หล้า เขมปัตโต เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้สถานที่แห่งนี้ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่พระธุดงคกรรมฐานว่า เป็นสถานที่อันวิเวก เหมาะสมแก่การปฏิบัติภาวนา ทำให้มีพระธุดงค์มาพักเพื่อปฏิบัติธรรมและจำพรรษาอยู่เสมอ จึงนับว่าวัดป่าหนองไผ่ ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน เป็นสถานที่สำคัญเก่าแก่ ถือเป็นอนุสรณ์สถานที่ควรแก่การอนุรักษ์ และท่านพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม ได้พำนัก ณ วัดป่าหนองไผ่ อ.เมือง จ.สกลนครแห่งนี้เรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน

โอวาทธรรม  

       “ก่อนที่จะพัฒนาสิ่งอื่นใด ขอให้เราหันมาพัฒนาจิตพัฒนาใจของเราให้ดีก่อน จากนั้นจะพัฒนาสิ่งใดก็ดีไปหมด”


       ความมีน้ำใจ ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน ความบริสุทธิ์ใจ ในการทำบุญสุนทร์ทานจะจืดจางจนหมดไปได้ หากมีการแลกเปลี่ยนกันด้วยเงิน ผู้ที่จะรักษานโยบายนี้ไว้ได้จะต้องอาศัยความอดทนความแข็งใจเป็นอย่างสูง เพราะความเมตตาสงสารชาวบ้านที่ยากจนก็มีเต็มล้นใจ การสงเคราะห์ด้วยการจ่ายค่าแรงงานก็เป็นสิ่งที่สะดวกคล่องตัว เนรมิตสิ่งใดได้ดังใจ ได้ตามความประสงค์ เป็นไปตามเวลาที่กำหนด สิ่งเหล่านี้    เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ถ้าใช้เงินเป็นเครื่องตอบแทน ทว่านโยบายของท่านคือการสร้างคน  มิใช่สร้างวัตถุให้มีล้นเหลือ แต่ความเจริญทางด้านจิตใจกลับลดน้อยลง ๆ หาใช่ความประสงค์ไม่ สิ่งที่จะทำให้ชาวบ้านบังเกิดความศรัทธา และพร้อมเพรียงใจกันเสียสละมาทำนุบำรุงสถานที่ของวัด โดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นวัตถุเงินทอง ก็มีเพียงสิ่งเดียวคือ “พระธรรม” 

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม.jpg
bottom of page