top of page

หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ

(พระปัญญาพิศาลเถร)

วัดป่าบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ(พระปัญญาพิศาลเถร).

ประวัติ

      พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ เป็นบุตรของนายอุทธา – นางจันทร์ นนฤาชา  เป็นบุตรคนที่ ๕  มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๑๐ คน เกิด ณ บ้านหนองค้อ  ตำบลดอนหว่าน  อำเภอเมือง  จังหวัดมหาสารคาม  เกิดเมื่อวันจันทร์ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘  ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ  พ่อแม่ได้อพยพมาอยู่ที่บ้านหนองแวง (แก้มหอม)  ตำบลไชยวาน  อำเภอไชยวาน  จังหวัดอุดรธานี  และได้จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านหนองแวงนี้เอง  การเข้าเรียนแต่ละชั้น เพื่อน ๆ ในชั้นเรียนเดียวกันได้ตั้งให้เป็นหัวหน้าในชั้นเรียนทุกชั้นไป  เมื่อขึ้นชั้นประถมปีที่ ๔  เด็กชายทูลได้รับความไว้วางใจจากครูว่ามีการศึกษาดี  จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ช่วยสอนนักเรียนในชั้นประถม ก. กา และประถมปีที่ ๑  และได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้านักเรียนทั้งหมดในโรงเรียนนั้น  เพราะในสมัยนั้นมีครูอยู่เพียง ๒ คน คือ คุณครูหัส และคุณครูอักษร  เมื่อครูมีน้อยการสอนไม่ทั่วถึง  เด็กชายทูลจึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ช่วยสอนนักเรียนด้วยกันเอง  และเป็นที่ยอมรับของเพื่อนนักเรียนด้วยกัน  เพราะเด็กชายทูลมีความซื่อสัตย์ต่อเพื่อน ๆ  ไม่ลักเอาของเพื่อน  และยังเก็บของเพื่อนนักเรียนที่ทำตกหายมาแจ้งครูให้ประกาศมารับของคืนไป  จึงเป็นที่ไว้ใจแก่เพื่อนนักเรียนทุกคนเมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ แล้ว  ครูทั้งสองมีความหวังดีต่อเด็กชายทูลเป็นอย่างมาก  จึงได้มาขอต่อพ่อแม่ว่า อยากให้เด็กชายทูลไปเรียนต่อที่จังหวัด  แต่พ่อแม่ยังไม่พร้อม จึงได้พูดว่าเพิ่งมาอยู่บ้านใหม่ อะไรยังไม่สมบูรณ์เลย  เด็กชายทูลเลยหมดโอกาสที่จะได้เรียนต่อ  จึงทำให้เรียนจบเพียงชั้นประถมปีที่ ๔ เท่านั้น


     ช่วงแรกที่ออกปฏิบัติภาวนานั้น ท่านได้จาริกบำเพ็ญสมณธรรมไปยังสถานที่สัปปายะหลายแห่ง  ได้เข้าถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล    หลังจากที่หลวงปู่ขาวละสังขารแล้ว ท่านจึงได้นำคณะศิษย์มาพำนักปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดป่าบ้านค้อ

 
          ท่านได้อุทิศชีวิตให้กับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านได้เขียนหนังสือธรรมภาคปฏิบัติเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติว่า เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ได้รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร สาขาการแต่งหนังสือทางพระพุทธศาสนา  


          จากการที่ท่านได้ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระศาสนาเป็นอย่างมาก ดังนั้นในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ นามว่า “พระปัญญาพิศาลเถร”

  
          หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ มรณภาพ เมื่อวันอังคารที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ณ วัดป่าบ้านค้อ รวมสิริอายุ ๗๓ ปี ๔๘ พรรษา และได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ณ วัดป่าบ้านค้อ 


           อัฐิธาตุของหลวงพ่อทูลได้แปรสภาพเป็นพระธาตุ เป็นเครื่องประกาศคุณธรรมที่บริสุทธิ์ เป็นพระอริยบุคคลอีกท่านหนึ่งที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สมดังความมุ่งมั่นตามที่ท่านได้ตั้งสัจจะในครั้งออกบวชว่า

 
         “ท่านจะขอมอบกายและถวายชีวิตเพื่อบูชาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆ์เจ้า จะทำประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท”


    ด้วยสังขารนั้นไม่เที่ยง วันอังคารที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ หลวงพ่อทูลละสังขารไปด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ ๗๓ ปี ๕ เดือน ๔๘ พรรษา

โอวาทธรรม  

      วัฏจักร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักแรมของจิตวิญญาณไม่มีกาลสมัย เมื่อใดใจยังมีตัณหาคือความอยาก เมื่อนั้นจิตวิญญาณยังต้องการอยู่ในสามภพนี้ตลอดไป มีทั้งสมหวังและผิดหวังมีทั้งสุขและทุกข์ ทั้งหัวเราะและร้องไห้ปนกันไป ในสามภพนี้เป็นสถานที่พักชั่วคราวเท่านั้น จิตวิญญาณจะไปอยู่แบบถาวรตายตัว ตลอดไปไม่ได้ จะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยที่สร้างเอาไว้ จะอยู่ใน ภพนั้นบ้างอยู่ในภพนี้บ้าง แล้วก็ผ่านไปไม่คงที่ จะมีความพอใจยินดีอยากจะอยู่ เป็นหลักฐานตลอดกาลไม่ได้ หรือจะไปที่ไหนอยู่ที่ไหนเอาตามใจชอบก็ไม่ได้เช่นกัน เหมือนกับบุคคลอยู่ในแพกลางมหาสมุทร จะกำหนดทิศทางให้แก่ตัวเองไม่ได้เลย จะไปตกค้างอยู่ที่ไหนอย่างไรก็จะเป็นไปตามกระแสของลม ฉันใด ผู้จะไปเกิดในภพชาติใดจะมีกรรมเป็นตัวกำหนดให้ไปเกิดในที่นั้น ๆ ผู้ทำกรรมดี เอาไว้ก็จะได้ไปเกิดในภพชาติที่ดี ผู้ทำกรรมที่ไม่ดีเอาไว้ก็จะได้ไปเกิดในภพชาติที่ไม่ดี กรรมจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุกๆ คนแต่บุคคลไม่ยอมรับผลของกรรมชั่วที่ตัวเองทำเอาไว้ แต่ก็หนีไม่พ้นจะต้องได้รับผลของกรรมชั่วแน่นอน คำว่า กรรมดีและกรรมชั่วนั้นมันเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นผลตอบแทนให้แก่เหตุอย่าง ตรงไปตรงมา จะเรียกว่าศาลโลกที่ตัดสินคดีให้แก่มนุษย์ทั้งหลายก็ว่าได้ ผู้ที่เวียนว่ายเกิดตายอยู่ในภพทั้งสาม จะต้องถูกศาลวัฏจักรตัดสินชี้ขาดให้ทั้งหมด ฉะนั้นจิตวิญญาณที่ชอบเที่ยวเร่ร่อนไปตามวัฏฏะ จะต้องอยู่ในขอบเขตของกฎแห่งกรรมด้วยกันทั้งนั้น ผู้ที่นับถือในศาสนาอะไร หรือผู้ที่ไม่นับถือศาสนาอะไร จะต้องอยู่ในอำนาจกฎแห่งกรรมด้วยกัน ไม่มีจิตวิญญาณใดอยู่เหนือกรรมนี้ไปได้เลย

bottom of page