top of page

หลวงปู่ประสาร สุมโน

(พระครูสุมนสารคุณ)

วัดป่าหนองไคร้ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
พระญาณวิสาลเถร (หลวงปู่หา สุภโร).jpg

ประวัติ

     พระครูสุมนสารคุณ มีนามเดิมว่า ประสาร นามสกุล “เผ่าเพ็ง” ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น “เผ่าพุทธ” และในปัจจุบันคือนามสกุล เผ่าพุทธ (พุทธะ) นั่นเอง เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๓ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ที่บ้านหนองเป็ด ตำบลหนองหิน อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น ต่อมายกระดับขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยแยกการปกครองมาจากจังหวัดอุบลราชธานี) จึงถือตามเอกสารทางราชการในปัจจุบันว่า หลวงปู่ประสารเป็นคนบ้านหนองเป็ด ตำบลหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร  โยมบิดามีนามว่า นายกลม โยมมารดามีนามว่า นางขาว นามสกุล เผ่าพุทธ (นามสกุลเดิมฝ่ายโยมมารดา “หงส์คำ) มีพี่น้องชายหญิง ๒ คน


    ในวัยเด็กหลวงปู่ประสารนั้นเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดบ้านหนองเป็ดจนจบชั้นประถมปีที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ ชีวิตของท่านก็เหมือนเด็กในชนบททั่ว ๆ ไป ต้องช่วยพ่อ-แม่ทำงานในบ้านตามแต่กำลังของเด็กจะช่วยได้ แม้ว่าร่างกายของท่านในยามนั้นจะเจ็บป่วยบ่อยครั้ง เพราะเป็นคนที่มีร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง เนื่องจากน้ำนมของโยมมารดาของท่านไม่มีพอให้ท่านดื่ม แต่การประกอบสัมมาอาชีพท่านเล่าว่าท่านไม่เคยท้อ จนถึงปัจจุบันร่างกายของท่านก็ไม่ค่อยแข็งแรง กระทั่งปี ๒๔๙๒ พระอาจารย์ศรีอารย์ เป็นคนบ้านหนองเป็ดได้ไปจำพรรษาอยู่กับ พระอาจารย์ผั่น วัดนาหัวช้าง หรือ วัดป่าอุดมสมพร ในปัจุบัน ได้มารักษาตัวโรคนิ่วที่จังหวัดอุบลราชธานี แล้วมาเยี่ยมโยมทั้งสองที่บ้านหนองเป็ด โดยพักที่ วัดบ้านหนองค้อ 


    ในยุคนั้นหลวงปู่ประสารท่านออกจากโรงเรียนแล้วช่วยพ่อ-แม่ทำไร่ทำนา เมื่อเสร็จงานไร่งานนาแล้วว่างงานก็วิ่งเล่นตามประสาเด็กชนบทที่ว่างงาน พระอาจารย์ศรีอารย์เมื่อเห็นหลวงปู่ประสารย่างเล่นตามประสาคนชนบท จึงถามท่านด้วยความเมตตาว่า “มึงอยากบวชบ่” ท่านจึงตอบว่า “ก็อยากบวชอยู่แล้วล่ะขอรับพระอาจารย์” ท่านจึงพูดว่า “ให้บอกพ่อ-แม่เสียก่อน ท่านจะบวชให้” เมื่อนำเรื่องไปปรึกษาครอบครัว พ่อ-แม่บอกว่า “มึงจะบวชได้บ่ พระกรรมฐานฉันข้าวมื้อเดียว” หลวงปู่ประสารในขณะนั้นจึงตอบพ่อ-แม่กลับไปว่า “ฉันก็เป็นคนเหมือนพระท่านนั่นแหละ เมื่อท่านอดได้ฉันก็ต้องทำได้” เมื่อไปบอกขออนุญาตจากทางบ้านแล้วก็ไปพบพระอาจารย์ศรีอารย์ ท่านจึงให้โกนหัวบวชขาว (ประมาณว่าให้ถือศีล ๘ นั่นแหละ ผู้เขียน) ในต้นปี ๒๔๙๒ ที่วัดโนนค้อ ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดที่พักของพระสายกรรมฐาน ไม่มีพระอยู่ประจำ พระกรรมฐานผ่านมาพักแล้วก็จากไปเป็นอยู่เช่นนั้น พอบวชได้ไม่กี่วันกลาง ๆ เดือนมกราคมของปีนั้นเดินทางจากจังหวัดยโสธรไปวัดป่าอุดมสมพรของพระอาจารย์ผั่นที่จังหวัดสกลนคร

โอวาทธรรม  

“..คนเราทุกข์เพราะความคิด ความปรุงแต่ง ปรุงดี ปรุงชั่ว ทุกข์เพราะยึด..” 
"ในการทำงานหากเรามีศีล มีสติ มีปัญญา การทำงานของเราก็จะทำได้ดีและพัฒนาก้าวหน้า"

bottom of page