top of page

หลวงปู่เนย สมจิตฺโต

พระครูวิมลสีลาภรณ์

วัดป่าภูทอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

ประวัติ

     พระครูวิมลสีลาภรณ์” หรือ “หลวงปู่เนย สมจิตฺโต” สมณะผู้ตั้งจิตไว้ตรง มีนามเดิมว่า เนย มูลสธูป เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๐ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีฉลู ณ บ้านกุดแห่ ตำบลกุดเชียงหมี อำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี (จังหวัดยโสธร ในปัจจุบัน) โยมบิดาชื่อ นายเอี่ยม มูลสธูป โยมมารดาชื่อ นางสุรีย์ มูลสธูป มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๙ คน ครอบครัวมีอาชีพทำไร่


    ช่วงชีวิตในวัยเด็ก เมื่ออายุ ๗ ปี ได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนบ้านกุดแห่ อายุ ๘ ปี ป่วยเป็นโรคท้องเรื้อรัง ทำให้ขาดการเรียนอยู่ ๓ เดือน พออายุได้ ๑๑ ปี เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้วออกมาช่วยโยมบิดา-มารดาทำไร่ทำนาตามประเพณี ด้วยในสมัยนั้นการเรียนภาคบังคับอยู่ที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เท่านั้น สำหรับการที่จะเรียนต่อให้สูงขึ้นนั้นต้องเดินทางไปเรียนต่อยังโรงเรียนต่างถิ่นต่างอำเภอ พออายุได้ ๑๖ ปี ก็กลับมาช่วยโยมบิดา-มารดาทำไร่ทำนาตามเดิม ด้วยความขยันหมั่นเพียรเต็มกำลังความสามารถ

 
    พออายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ โยมบิดา-มารดา พร้อมทั้งเจ้าภาพผู้ที่จะถวายผ้าป่า นำท่านไปมอบถวายให้เป็นศิษย์ ท่านพระอาจารย์ดี ฉนฺโน ซึ่งเป็นศิษย์พระกรรมฐานรุ่นใหญ่ของ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล


ท่านได้ฝึกขานนาคอยู่เป็นเวลา ๓ เดือนเต็ม จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ เขตวิสุงคามสีมาวัดป่าสุนทราราม (วัดบ้านกุดแห่) ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยมี พระครูภัทรคุณาธาร (บุญ โกสโล ป.ธ.๔) วัดพรหมวิหาร ตำบลสวาท อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสุนทรศีลขันธ์ (พระอาจารย์สิงห์ทอง ปภากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระสมุห์อุ้ยเป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้เข้ารับฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ดี ฉนฺโน เจ้าอาวาสวัดป่าสุนทราราม (วัดบ้านกุดแห่) ในขณะนั้น อยู่เป็นสม่ำเสมอและบ่อย ๆ 


    พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้จำพรรษาที่วัดป่าสุนทราราม โดยมีพระอาจารย์สิงห์ทอง เป็นผู้ให้นิสัยรับโอวาทการปฏิบัติธรรม และในพรรษา ได้ถือธุดงค์ห้ามภัตตาหารที่นำมาถวาย ภายหลังตลอด ๓ เดือน ในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๔ – ๒๕๐๘ ท่านได้จำพรรษาที่ภูถ้ำพระ ประกอบความเพียรด้วยความวิริยอุตสาหะแรงกล้า ไม่จำวัดตลอดกลางวัน 
    
    พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้จำพรรษาที่วัดกลาง บ้านหนองสูง อ.คำชะอี จ.นครพนม (ปัจจุบันเป็นจังหวัดมุกดาหาร) ท่านพระอาจารย์กงแก้ว ขันติโก เจ้าอาวาสวัดกลาง ให้ช่วยเร่งทำความเพียรอย่างแรงกล้า จนเป็นลม ๒ ครั้ง เนื่องจากฉันอาหารน้อย บางวันถึงกับอดอาหาร ทำให้การประกอบความเพียรเป็นไปได้ด้วยดี ต่อสู้กับกิเลสขันธมารตลอดเวลาอย่างไม่ย่อท้อ ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า ถ้าจะตายขอให้ตายไปเลย อย่าได้เดือดร้อนญาติโยม ปรารถนาจะไม่ให้ใครเดือดร้อนลำบากด้วยเรื่องของสังขาร แม้ในปัจจุบัน รักษาร่างกายด้วยตัวเอง


    ท่านเคยบอกว่าผู้คนมักมัวเมาลุ่มหลงด้วยถูกทรมานมาแสนสาหัสจากภพภูมินรก ภูมิสัตว์เดรัจฉาน ทำให้หลงลืมที่จะรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ ด้วยภพภูมินี้เป็นภพภูมิที่จะสามารถนำไปสู่นรก สวรรค์ หรหมโลก นิพพานได้ ภพภูมิต่าง ๆ ล้วนต้องอาศัยความเป็นมนุษย์เท่านั้นที่จะบำเพ็ญไปสู่ภพนั้น ๆ เทวดาจะไปนิพพานต้องจุติมาเกิดในโลกมนุษย์ก่อน อย่างนี้เป็นต้น จึงได้ปฏิบัติแบบค่อยเป็นค่อยไปตลอดพรรษา แต่ก็ยังเป็นแบบเคร่งครัด ปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย ทุกช่วงออกพรรษา หลวงปู่เนย มักเดินทางออกไปธุดงค์ แต่มาระยะหลังสุขภาพไม่แข็งแรง จึงเลือกที่จะปฏิบัติอยู่กับวัดป่าโนนแสน หลวงปู่เนย เป็นพระที่มีศีลาจาริยวัตรอันงดงาม เป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง สงบเสงี่ยมเรียบร้อยงดงามด้วยข้อวัตรปฏิบัติ


    ท่านมักสอนเสมอ ๆ ว่าการรักษาศีลข้อวัตรปฏิบัติเป็นหัวใจของพระศาสนาและต้องปฏิบัติทุกลมหายใจเข้าออก ถือเป็นหน้าที่ จะหาข้อหลบหลีกปลีกหนีที่จะไม่ปฏิบัติไม่ได้โดยเด็ดขาด แม้ข้อสิกขาบทเพียงเล็กน้อยก็ไม่มีการยกเว้นได้เลย ศีลสิกขาบทเป็นความงดงามของพระเรา ใครปฏิบัติได้มากยิ่งงดงามมาก ไม่มีอะไรจะงดงามเท่าการรักษาศีลได้เลย การสอนที่ดีที่สุด คือ การปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้ดู แม้ยามเจ็บป่วยหรือไม่แข็งแรง หลวงปู่เนย ไม่เคยบอกกล่าวให้ญาติโยมทราบ น้อยคนนักที่จะรับรู้ปัญหาสุขภาพ บางคณะถึงกับนิมนต์ท่านให้เดินทางไปในที่ไกล ๆ ท่านต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก บางครั้ง ท่านได้ปรารภกับพระในวัด ห้ามบอกว่าไม่สบาย ด้วยหลวงปู่ ต้องการทำคุณประโยชน์ให้กับโลกมากที่สุด

 
    หลวงปู่เนย สมจิตฺโตละสังขารด้วยอาการสงบวันที่๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๖.๓๒ น.ที่กุฏิของท่าน ณ วัดป่าโนนแสนคำ อ.เจริญศิลป์ จ.สกลนคร

โอวาทธรรม  

      หลวงปู่ท่านบอกว่า การรับรู้เรื่องของคนอื่นมันไม่เหมือนรู้เรื่องตนเอง รู้ตนเองเห็นเองหายสงสัย ใครจะว่าอย่างไรก็หมดสงสัย เหมือนรับประทานอาหาร คนอื่นบอกว่าอร่อย แต่เราไม่ได้รับประทานด้วยก็ไม่หายสงสัย คนเคยไปกรุงเทพฯ มีพระแก้วมรกตก็ไม่สงสัย เพราะเคยไปเห็นมาแล้วด้วยตนเอง 


    ท่านสอนว่าเรียนรู้เรื่องทางโลกมันไม่รู้จบรู้สิ้น เรียนอันนั้นเหลืออันนี้อยู่ตลอดไป คนทั้งหลายไม่สนใจจิตใจตนเอง สนใจแต่เรื่องที่ก่อให้เกิดความทุกข์วิปโยควังเวง เรียนทางโลกไม่เหมือนเรียนทางธรรม เรียนทางธรรมไปสิ้นสุดที่นิพพาน ใครไปถึงนิพพานก็จบ 
    

     หลวงปู่ให้ข้อคิดในเรื่องวัตถุมงคลไว้ว่า “วัตถุมงคลเป็นสิ่งที่ให้ระลึกถึงคุณงามความดีองค์ที่ท่านสร้าง ท่านสร้างด้วยความดี ท่านจะคุ้มครองคนทำดี ท่านเตือนให้กำหนดพุทโธตลอดเวลา ไม่มีอะไรเหนือกรรม กรรมดีพระคุ้มครอง ไม่มีอะไรศักด์สิทธิ์เหนือกว่ากรรม กรรมดีพระคุ้มครอง ไม่มีอะไรศักดิ์สิทธิ์เหนือกว่ากรรมได้เลย หมดอายุขัยก็คุ้มครองไม่ได้ แรงอะไรก็ไม่เท่าแรงกรรม วัตถุมงคลท่านจะช่วยได้บางโอกาสเท่านั้น อย่าประมาทกรรม ไม่มีอะไรเหนือกรรม จงทำดีให้มาก” 

หลวงปู่เนย สมจิตฺโต(พระครูวิมลสีลาภรณ์).
bottom of page