top of page

ประวัติ

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม นามเดิมว่า ตื้อ นามสกุล ปาลิปัตต์ เกิดในครอบครัวชาวนา เมื่อวันจันทร์ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๑ ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีชวด สัมฤทธิศกจุลศักราช ๑๒๕๐ ณ บ้านข่า ตำบลบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม บิดาของท่านชื่อ นายปา มารดาชื่อ นางปัตต์หลวงปู่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๗ คน เป็นชาย ๕ หญิง ๒ คนโตเป็นหญิงชื่อ นางคำมี คนที่สองเป็นชาย ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก คนที่สามชื่อ นายทอง คนที่สี่ชื่อ นายบัว ส่วนหลวงปู่เป็นบุตรคนที่ห้า คนที่หกชื่อนายตั้ว และคนสุดท้ายเป็นหญิงชื่อ นางอั้ว ทีสุกะ พี่น้องทุกคนรวมทั้งหลวงปู่มรณภาพหมดแล้ว เป็นไปตามวัยและตามธรรมดาของสังขาร ที่ยังเหลืออยู่ก็มีแต่ความดี และความชั่ว ยังให้คนระลึกถึงพูดถึงไปอีกนาน ในบรรดาเครือญาติของหลวงปู่ตื้อ นับเป็นครอบครัวที่ใกล้ชิดกับวัด ใฝ่ใจต่อการศึกษาในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดาผู้ชายล้วนแต่ได้บวชเป็นพระภิกษุ และถ้าเป็นหญิงก็สละบ้านเรือน มาบวชชีจนตลอดชีวิตก็มีหลายคน หลวงปู่จึงได้รับการปลูกฝังให้สนใจการบวชเรียน สนใจศาสนาโดยสายเลือดก็ว่าได้ ท่านเป็นศิษย์วัด รับใช้พระเณรตั้งแต่ยังเป็นเด็กและเคยบวชเณรมาครั้งหนึ่ง ท่านจึงมีความคุ้นเคยกับวัด คุ้นเคยกับพระกับเจ้าเป็นอย่างดีและปรารถนาที่จะได้บวชเป็นพระภิกษุเมื่อถึงเวลาอันควร ท่านคิดเรื่องการบวชอยู่ตลอดเวลา


หลวงปู่ตื้อ ได้เข้าไปอยู่เป็นศิษย์วัด ไปเรียนรู้ธรรมเนียมพระและฝึกขานนาคเตรียมตัวที่จะบวช ในบันทึกไม่ได้บอกถึงวันเวลาและสถานที่บวช ทราบแต่ว่า ท่านบวชในฝ่ายมหานิกาย บวชกับพระอุปัชฌาย์คาน ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม  ตามประวัติ บอกไว้ว่า หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่ออายุ ๒๑ ปี บวชครั้งแรกในฝ่ายมหานิกาย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ บวชอยู่นานถึง ๑๙ พรรษา จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๑ จึงได้ญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิศาลสารคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูนพีสีพิศาลคุณ (ทอง โฆสิโต) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลวงปู่ตื้อ อยู่ในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ๔๖ พรรษาจวบจนท่านละสังขารเมื่ออายุ ๘๖ ปี รวมอายุพรรษาทั้งสองนิกาย ๖๕ พรรษา หลังจากที่หลวงปู่ เข้าพิธีอุปสมบทที่อำเภอท่าอุเทนแล้ว ท่านก็กลับไปจำพรรษาที่วัดบ้านเกิด เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยขั้นต้น และท่องบ่นบทสวดมนต์ต่าง ๆ ตามที่พระเณรใช้สวดกันเป็นประจำ เมื่อหลวงปู่ตื้อ บวชครบ ๗ วัน ปู่จารย์สิมของท่านได้มาที่วัด ถามพระหลานชายว่าต้องการจะสึกหรือยังไม่สึก ถ้าสึกจะได้กลับไปจัดเสื้อผ้ามาให้  หลวงปู่ตื้อ ท่านรู้สึกลังเลในตอนนั้น ใจหนึ่งก็อยากจะสึก ใจหนึ่งก็ไม่อยากสึก แต่มาคิดได้ว่า ถ้าสึกในขณะนั้น ชาวบ้านจะพากันเรียกว่า “ไอ้ทิด ๗ วัน” ทำให้อับอาย จึงบอกปู่จารย์สิมว่า “อาตมายังไม่อยากสึก ขออยู่ไปก่อน รอให้ออกพรรษาก่อนเถิด” หลวงปู่ตื้อ ท่านก็บวชอยู่ได้จนครบพรรษาแรก ได้หัดท่องหัดสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน จนจำได้ขึ้นใจ ออกไปสวดงานต่าง ๆ ในหมู่บ้านรวมกับพระอื่น ๆ ได้ พอออกพรรษาแรกได้เดือนเศษ ปู่จารย์สิมก็มาถามอีกว่าอยากจะสึกแล้วยัง พระหลานชายก็ทำเฉยเสีย เพราะรู้สึกว่าใจคอรู้สึกสงบสบายดีอยู่ ท่านคิดในใจว่า ท่านบวชเรียนแค่พรรษาเดียว การเล่าเรียนพระธรรมยังไม่ได้อะไรเลย การอาราธนาศีล ๕ ศีล ๘ อาราธนาเทศน์ ก็ยังทำได้ไม่คล่อง จำได้ผิด ๆ ถูก ๆ เมื่อสึกออกไป ถ้าถูกไหว้วานให้นำอาราธนาต่าง ๆ ถ้าว่าไม่ได้คงจะอายเขาแน่ หลวงปู่ตื้อ ท่านบอกจึงปู่จารย์สิมว่า “ตอนนี้ท่านยังรู้สึกสบายดีอยู่จะขอบวชไปเรื่อย ๆ ก่อน” 


บรรดาศิษย์สายกรรมฐานส่วนใหญ่มักจะคุ้นชื่อและได้ยินกิตติศัพท์ของ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นอย่างดี ท่านมีปฏิปทาที่แปลก น้ำใจเด็ดเดี่ยว โผงผาง ตรงไปตรงมา มีแง่มุมต่าง ๆ ที่ครูบาอาจารย์มักจะกล่าวถึงเสมอ ๆ และเล่าถ่ายทอดต่อกันมา ครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นที่น่าสนใจทั้งผู้เล่าและผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง


หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านพักจำพรรษาประจำที่และอยู่นานที่สุดที่วัดป่าอาจารย์ตื้อ ตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่บนเส้นทางเชียงใหม่-เชียงดาว อยู่ตรงมุมทางแยกขวาเข้าเขื่อนแม่งัด ทางไปวัดอรัญญวิเวก ของหลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป นั่นเอง และครั้งสุดท้ายท่านกลับไปจำพรรษาที่บ้านเกิด ที่วัดป่าอรัญญวิเวก บ้านข่า ตำบลบ้านข่า อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม และมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗ เวลา ๑๙.๐๕ น. สิริรวมอายุได้ ๘๖ ปี

ธรรมโอวาท 

สำหรับการแสดงธรรมเผยแพร่พระพุทธศาสนาของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม นั้น ท่านแสดงธรรมอย่างตรงไปตรงมา แสดงธรรมตามทัศนะของท่าน มีคนชอบฟังมาก หลวงปู่เล่าว่าโลกนี้เขามีเครื่องผูกอันเหนียวแน่น ยากที่จะตัดได้ด้วยอย่างอื่น นอกจากพระธรรมของพระพุทธเจ้า มนุษย์เราเกิดมาก็ต้องทำบาป เมื่อทำแล้วก็ต้องได้รับผลกรรมที่เราทำไว้ พ่อแม่เรานั้นทำกรรม เราเกิดมาก็ทำกรรมไปอะไรที่สุดของกรรมไม่มีใครรู้ได้ทำบาปแล้วมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย


    ๑. จิตตานุปัสสนา จิตไม่ฆ่าสัตว์ จิตก็เป็นโสดาปัตติมรรค จิตก็เป็นโสดาปัตติผล จิตไม่ฆ่าสัตว์ จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน
    ๒. จิตตานุปัสสนา จิตไม่ลักทรัพย์ จิตก็เป็นพระสกิทาคามิมรรค จิตก็เป็นพระสกิทาคามิผล จิตไม่ลักทรัพย์ จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน
    ๓. จิตตานุปัสสนา จิตไม่คิดมีผัวเมีย ออกบวช จิตก็เป็นพระอนาคามิมรรค จิต ก็เป็นพระอนาคามิผล จิตออกบวช จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน
    ๔. จิตตานุปัสสนา จิตไม่กล่าวมุสาวาท จิตก็เป็นพระอรหัตมรรค จิตก็เป็นพระอรหัตผลอีกนัยหนึ่ง จิตไม่ขี้ปด จิตก็เป็นศีล จิตก็เป็นฌาน จิตก็เป็นนิพพาน อยู่ที่หัวใจของเราทุกคน


หลวงปู่สอนว่า “ธรรมะ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า พวกเรามองข้ามไปเสียหมด อยู่ที่ตัวของเรานี้เองมิใช้อื่น พุทธะคือผู้รู้ ก็ตัวของเรานี้ เองมิใช้ใครอื่น เช่นเดียวกันกับไข่ ไข่อยู่ข้างในของเปลือกไข่ ทำให้เปลือกไข่แตกเราก็ได้ไข่ พิจารณาร่างกายของเราให้แตก แล้วเราก็จะได้ธรรมะ” หรือ… “ธรรมะจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการทำอะไรจริงจัง คือการตัดสินใจอย่างแน่นอนลงไป แล้วเลือกเฟ้นธรรมปฏิบัติอย่างแท้จริง  ไม่นานหรอกเราก็จะได้พบสิ่งที่เราต้องการความกลัวทุกอย่างจะหายไปหมด ถ้าเราตัดสินใจอย่างใดแล้วคือเราต้องเป็นคนมีจุดมุ่งหมายอย่างหลวงตา นับตั้งแต่บวชมาได้ตัดสินใจปฏิบัติธรรมะอย่างจริงจัง จนทุกวันนี้ไม่เคยลดละและท้อถอยเลย” หรือ “นักธรรม นักกรรมฐานต้องมีนิสัยอย่างเสือโคร่ง คือ ๑. น้ำจิตน้ำใจต้องแข็งแกร่งกล้าหาญไม่กลัวต่ออันตรายใด ๆ ๒. ต้องเที่ยวไปในกลางคืนได้ ๓. ชอบอยู่ในที่สงัดจากคน ๔. ทำอะไรลงไปแล้วต้องมุ่งความสำเร็จเป็นจุดหมาย” หรือ…. “สัตว์เดรัจฉานมันดีกว่าคนตรงที่มันไม่มีมายา ไม่หลอกลวงใคร มีครูอาจารย์ก็คือคนเป็นสัตว์ที่น่ารักน่าสงสาร คนเราซิโง่เป็นพุทธะได้ แต่หลอกลวงตนเองว่าเป็นไปไม่ได้ ร่างกายก็มีให้พิจารณาว่าเป็นของเน่าเป็นของเหม็น แต่เราพิจารณาว่าเป็นของหอมน่ารัก โง่ไหมคนเรา” และเมื่อเทศน์จบลงท่านชอบถามผู้ฟังว่า “ฟังเทศน์หลวงตาดีไหม” คำถามเช่นนี้ ท่านบอกว่า หมายถึง การฟังธรรมครั้งนี้ได้รับความสงบเย็นของจิตไหม และเกิดสังเวชในความชั่วไหม ท่านชอบตักเตือนเสมอว่าการปฏิบัติธรรมนั้นอย่างที่ท่านบูรพาจารย์ทั้งหลายดำเนินมานั้น  ท่านพยายามไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติธรรม  พยายามให้เกิดความสนใจในธรรมปฏิบัติอยู่เสมอ การที่เราเกิดความเบื่อหน่ายในธรรมปฏิบัตินี้เป็นการที่เราจะดำเนินไปไม่ได้นาน และจะเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก แต่เกิดความสังเวชในธรรมบางอย่างนั้นเป็นการดี เพราะจะเป็นประโยชน์แก่เราผู้ปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง แต่ถ้าเบื่อหน่ายในความชั่วไม่เป็นไร เพราะถ้าเบื่อหน่ายในความชั่วแล้วก็เร่งพยายามทำความดีต่อไป

 

ปัจฉิมบท

เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๗  โดยอาการอาพาธ รวมสิริอายุได้ ๘๖ ปี บวชพระธรรมนิกาย ๑๙ พรรษา ธรรมยุติได้ ๔๖ พรรษา

หลวงปู่ตื้อ  อจลธมฺโม

วัดอรัญญวิเวก  บ้านข่า อำเภอศรีสงคราม  จังหวัดนครพนม
หลวงปู่ตื้อ  อจลธมฺโม.jpg
bottom of page