top of page

หลวงปู่เทียน  จิตฺตสุโภ

สำนักสงฆ์ทับมิ่งขวัญ  อำเภอเมือง จังหวัดเลย
หลวงปู่เทียน  จิตฺตสุโภ.jpg

ประวัติ

หลวงปู่เทียน จิตฺตสุโภ เกิดที่บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔ตรงกับวันอังคาร เดือน ๑๐ ปีกุน ขึ้น ๑๓ ค่ำ บิดาของท่านชื่อ จีน มารดาชื่อ โสม นามสกุล อินทผิว


หลวงพ่อมีนามจริงว่า พันธ์ อินทผิว เหตุที่ท่านเป็นที่รู้จักในนามหลวงพ่อเทียน ก็เนื่องจากท้องถิ่นของท่านนิยมเรียกชื่อกันตามชื่อของลูกคนหัวปี บุตรชายคนแรกของหลวงพ่อชื่อเทียน ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านจึงเรียกท่านว่าพ่อเทียน ภรรยาของท่านชื่อหอม ก็ได้รับการเรียกขานว่าแม่เทียนเช่นเดียวกัน


ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๖ คน คนแรกเป็นชายชื่อ สาย คนที่สองเป็นชายชื่อ ปุ้ย คนที่สามเป็นชายชื่อ อุ้น คนที่สี่เป็นหญิงชื่อ หวัน พิมพ์สอน ท่านเองเป็นคนที่ห้า และคนที่หกเป็นชายชื่อ ผัน พี่น้องของท่านที่ยังมีชีวิตอยู่คือพี่สาวคนเดียวของท่านชื่อ หวัน พิมพ์สอน หรือป้าหนอม พี่น้องคนอื่น ๆ ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วทั้งสิ้น  หลวงพ่อมีชีวิตในวัยเด็กเช่นเดียวกับเด็กชาวบ้านในท้องถิ่นชนบทห่างไกลความ เจริญทั่วไป ตื่นเช้าท่านก็ออกไปช่วยพ่อแม่ทำนาเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ตกเย็นก็ไล่ต้อนวัวควายกลับบ้าน ท่านเล่าว่าท่านไม่เคยได้มีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียน เนื่องจากในท้องถิ่นของท่านยังไม่มีโรงเรียน ถ้าจะเรียนก็ต้องเดินทางไปเรียนในท้องถิ่นที่เจริญกว่า ในสมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก หลวงพ่อจึงไม่สามารถจะเดินทางไปเรียนในโรงเรียนที่อยู่ไกลจากบ้านท่านได้ ท่านเล่าว่าในท้องถิ่นของท่านไม่มีความเจริญทางวัตถุแต่อย่างใด รถไฟ รถยนต์ เครื่องบินหรือแม้แต่จักรยาน ท่านก็ยังไม่เคยเห็น สำหรับเครื่องบินนั้นแม้แต่ชื่อก็ยังไม่เคยได้ยิน

เมื่อหลวงพ่ออายุได้ราว ๑๐ ขวบ หลวงน้าของท่านซึ่งไปเรียนหนังสือมาจากจังหวัดอุบลราชธานี ได้มาขอกับบิดามารดาของท่านให้ท่านบวชเป็นเณรคอยรับใช้หลวงน้า เรียกว่าเณรใช้ หลวงน้าของท่านชื่อยาคูผอง นามสกุลจันทร์สุข อุปสมบทเมื่ออายุยังน้อยและครองเพศบรรพชิตมาโดยตลอด หลวงพ่อเล่าว่าทางบ้านเกิดของท่านมีประเพณีรดน้ำพระภิกษุที่บวชมานาน รดครั้งแรกเรียกสมเด็จ รดครั้งที่สองเรียกซา รดครั้งที่สามเรียกยาคู และในพิธีรดน้ำครั้งต่อ ๆ ไปก็เรียกยาคูทั้งสิ้น


เมื่ออายุครบบวช หลวงพ่อก็ได้มาบวชอยู่กับหลวงน้าอีกครั้งหนึ่ง โดยพระครูวิชิตธรรมาจารย์ เจ้าคณะอำเภอเชียงคานเป็นอุปัชฌาย์ ท่านได้ฝึกวิชาต่าง ๆ กับหลวงน้าต่อไปเช่นเดิม คือฝึกกรรมฐานและเรียนเวทมนต์คาถาต่าง ๆ ท่านเล่าว่าไม่มีวิชาอะไรเพิ่มขึ้น แต่ทำที่สอนไว้ให้เจริญขึ้น นอกจากนั้นก็มีการเดินธุดงค์ ซึ่งเป็นการทำตามประเพณี ยังไม่เข้าใจว่าธุดงค์หมายถึงอะไร การธุดงค์ที่หลวงพ่อทำในขณะนั้นคือ ไปอยู่ตามป่าช้า ตามสวน ใกล้ ๆ บ้านคน หรือตามกระต๊อบปลายนาไม่ห่างจากบ้านคนมากนัก เพื่อให้ออกบิณฑบาตได้โดยไม่ลำบากจนเกินไป


หลวงพ่อบวชเป็นพระครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๓ ที่วัดศรีคุณเมือง ตำบลบ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีพระ วิชิตธรรมาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการชุนเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสุบรรณ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ขณะนั้นหลวงพ่อมีอายุได้ ๔๘ ปี


หลวงพ่ออบรมปฏิบัติธรรมที่วัดบรรพตคีรี บ้านบุฮม พ.ศ. ๒๕๓๐ เมื่อบวชเป็นพระแล้ว หลวงพ่อก็ได้ทำหน้าที่ของท่าน คือสอนธรรมะให้ทั้งพระสงฆ์และญาติโยม ท่านเล่าว่าท่านสอนไปทุกที่ ไม่จำกัดว่าอยู่ในวัดหรือกุฏิ แม้แต่คนเดินอยู่บนถนน ถ้าถามท่าน ๆ ก็แนะนำให้ หรือบางครั้ง ท่านก็ยังเคยเป็นผู้ถามนำขึ้นก่อนก็มี ท่านมักจะถามผู้ที่ได้พบปะสนทนากับท่านว่า เขาผู้นั้นมีความทุกข์เดือดร้อนอะไรบ้าง ถือศาสนาพุทธมากี่ปีแล้ว และความทุกข์ลดน้อยลงไปบ้างหรือไม่ หรือยังคงมีความทุกข์อยู่ตามเดิม เพราะหากยังมีความทุกข์อยู่ตามเดิม แสดงว่ายังไม่เข้าใจหลักพุทธศาสนา เพียงเข้าใจหลักศีลธรรม ศาสนาศีลธรรม ไม่ใช่เป็นพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาสอนให้คนมีปัญญา กำจัดเหตุแห่งทุกข์ลงได้


หลวงพ่อสอนธรรมะแก่พระสงฆ์และญาติโยมอยู่ที่บ้านเกิดของท่านราวปีกว่า ท่านจึงย้ายเข้ามาอยู่ในอำเภอเชียงคาน ขณะนั้น หลวงพ่อตั้งสำนักวิปัสสนาอยู่ที่อำเภอเชียงคาน ๒ แห่ง คือที่วัดสันติวนาราม และที่วัดโพนชัย นอกจากนั้น หลวงพ่อยังได้ข้ามไปเปิดสำนักอบรมวิปัสสนาที่เมืองลาวอีกแห่งหนึ่งด้วย

ธรรมโอวาท 

ธรรมโอวาทของหลวงพ่อ เป็นคำกล่าวหรือคำพูดง่าย ๆ แต่มีความหมายอย่างลึกซึ้งสำหรับผู้รู้ ผู้เข้าใจด้วยสติปัญญา และการประพฤติปฏิบัติธรรม หลวงพ่อกล่าวว่าคนฟังธรรมะ มี ๓ ประเภทประเภทที่หนึ่ง ฟังแล้วเข้าใจส่งเสริมสนับสนุนช่วยท่าน ประเภทที่สอง ฟังแล้วกลายเป็นฝ่ายตรงกันข้าม หาวิธีกลั่นแกล้ง ขัดขวาง ประเภทที่สาม ฟังแล้วก็แล้วไป ไม่มีความสนใจแต่ประการใด พวกที่ไม่เห็นด้วยกับคำสอนของหลวงพ่อ ก็สงสัยหลวงพ่อว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ เช่น หลังจากที่หลวงพ่อเปิดอบรมวิปัสสนาอยู่ระยะหนึ่ง ก็เริ่มมีผู้กล่าวหาว่าหลวงพ่อเป็นคอมมิวนิสต์ เนื่องจากคำสอนของหลวงพ่อขัดแย้งกับสิ่งที่คนเหล่านั้นประพฤติปฏิบัติอยู่ หลวงพ่อสอนให้เลิกละธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งแท้จริงแล้วมิได้เกื้อกูลต่อการสร้างบุญสร้างกุศลแต่อย่างใด เช่น การฆ่าวัว ฆ่าควาย หรือการเลี้ยงสุกร เครื่องดองของเมา การเล่นการพนันในงานบุญ ท่านกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวไม่ใช่บุญ แต่เป็นบาป ผู้ที่ไม่เข้าใจจึงกล่าวหาว่าท่านลบล้างขนบธรรมเนียมประเพณี หลวงพ่อเล่าว่าบางคนไม่เข้าใจเรื่องการทำบุญ คนประเภทนั้นเมื่อไม่รู้จักบุญ ก็ย่อมเอาบุญไม่ได้ หรือทำบุญแต่อาจกลายเป็นบาปไปได้


ธรรมโอวาท มักปรากฏในการเทศนาธรรมของหลวงพ่อ หรือมีผู้สนใจธรรมะไปซักถามและสนทนาธรรมกับหลวงพ่อ ปัจจุบันสามารถหาฟังการเทศนาธรรมของหลวงพ่อจากเทปธรรมะที่มีผู้บันทึกเสียงเอาไว้ และสามารถหาอ่านหนังสือธรรมะของหลวงพ่อ ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมและญาติธรรมได้ดำเนินการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม อยู่ประมาณไม่ต่ำกว่า ๔๓ เล่ม เช่น วิธีปฏิบัติธรรมเพื่อเอาไปประยุกต์ใช้กับการงานทุกอย่าง วิธีปฏิบัติธรรมทางลัด การเจริญสติสว่างที่กลางใจ ความรู้สึกตัว ธรรมะแท้ต้องรู้อย่างเดียวกัน พลิกโลกเหนือความคิด การประจักษ์แจ้งสัจจะ รู้อย่างไม่รู้ รู้อย่างผู้รู้ ความหลุดพ้น เป็นต้น 

ธรรมโอวาทที่ฟังแล้วเรียบง่าย มักไม่ปะปนไปด้วยสำนวนโวหาร เช่น 

 

"การปฏิบัติธรรมะ นั้นวิธีใดก็ดี ถ้ามันทำประโยชน์ให้กับเรา หมดข้อข้องแวะ แต่ขอให้หมดจริงๆ ต้องปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อหลอกตัวเอง ต้องปฏิบัติจริงๆ คนจริงย่อมรู้ของจริง" 

 

"คนโง่สอนคนฉลาดไม่ได้ คนฉลาดสอนคนฉลาดหรือคนโง่ได้" 

 

"การถวายหมากพลู บุหรี่ เป็นเรื่องพอกพูนความชั่วให้พระมีความผิด เรียกว่าเอากิเลสไปให้พระ เราอยากละกิเลส แต่เราไม่รู้จักกิเลส" 

 

"ความรู้สึกตัวเป็นรากเหง้าของบุญ ความไม่รู้สึกตัวเป็นรากเหง้าของบาป" 

 

"ความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้น ต่อเมื่อเราหยุดการแสวงหา ต่อเมื่อเราไม่ต้องวิ่งหาบุคคลอื่นนั้น เรียกว่า ความสงบ" 

 

"การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่าไปแสวงหาที่ๆ มันไม่มี แสวงหาตัวเรานี้ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอนี่แหละ จะรู้จะเห็น" ฯลฯ 

 

จากประวัติของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ทำให้ทราบว่าหลวงพ่อได้แสวงหาและปฏิบัติธรรม ตั้งแต่บรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งในขณะนั้นมีอายุได้ราว ๑๐ ขวบ และขณะเป็นฆราวาสก็สนใจการทำบุญและแสวงหาธรรมะมาโดยตลอด จากคำนำในหนังสือ ปกติ : หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และสิ่งที่ฝากไว้ ซึ่งกลุ่มเทียนสว่างธรรม ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า 

 

"...นับเป็นประวัติชีวิตที่เรียบง่าย ไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ถึงความมหัศจรรย์ หรืออำนาจเร้นลับเกินมนุษย์ธรรมดา ไม่มีความพิสดาร หรืออิทธิปาฏิหาริย์ใดใดอันจะเป็นเครื่องโน้มน้าวให้ติดตามต่อไปจนถึงสาระสำคัญที่สุดคือ แก่นแท้ของธรรมะ เพราะสำหรับหลวงพ่อแล้วสิ่งนั้นเป็นเหตุให้บุคคลใช้เวลาในการเดินทางไปสู่ความหลุดพ้นยาวนานเกินความจำเป็น ด้วยอาจจะพลัดหลงหรือติดอยู่ในความมหัศจรรย์ของเปลือกของกระพี้นั้น หลวงพ่อท่านจึงมุ่งเน้นให้เข้าใจในหลักปฏิบัติ และให้ทุ่มเทความเพียรในการปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นภาระกิจที่มนุษย์ทุกคนพึงกระทำให้แก่ชีวิตของตน..." 

 

"บุคลิกภาพ อุปนิสัย และปฏิปทาของหลวงพ่อ น่าเคารพเลื่อมใส มีความปกติกายปกติใจอย่างเห็นได้ชัด เรียบง่ายและมีความเกรงใจผู้อื่นอยู่เป็นนิจ มีความกตัญญูต่อบุคคลที่ได้เคยช่วยเหลือเกื้อกูลท่าน ท่านมีความระลึกถึงและหาโอกาสตอบแทนความดีของบุคคลเหล่านั้นอยู่เสมอ หลวงพ่อมีความอ่อนโยนและเกรงใจผู้อื่น แต่ท่านก็มีความมั่นคงและเด็ดขาด" นี่เป็นคำกล่าวของผู้ที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดประพฤติปฏิบัติธรรม และอุปัฏฐากหลวงพ่อ 

 

 

ปัจฉิมบท

วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๑ หลวงพ่อเดินทางกลับจากจังหวัดเลยโดยมีศิษย์ที่เป็นพระภิกษุและฆราวาส กลุ่มหนึ่งไปส่งท่าน  ในขณะนั้นอาการของหลวงพ่อทรุดหนักเป็นที่น่าวิตกว่าร่างกายของท่านอาจจะไม่สามารถทนต่อความกระทบกระเทือนในการเดินทางได้  เมื่อเดินทางถึงทับมิ่งขวัญ  จังหวัดเลย หลวงพ่อปฏิเสธที่จะฉันยาทุกชนิด แม้ว่าหลวงพ่อจะมีวิบากสังขารหนักหนาเพียงใด  ท่านก็ยังมีเมตตาแสดงธรรมโปรดญาติโยมและศิษย์ที่เฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นวันอังคารที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑เวลา  ๑๘.๑๕  น.  หลวงพ่อได้ละสังขารอย่างสงบ  ณ  ศาลามุงแฝกของเกาะพุทธธรรม ทับมิ่งขวัญ สถานที่ปฏิบัติธรรมที่หลวงพ่อได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในช่วงสุดท้ายของชีวิต 

bottom of page